ความมหัศจรรย์ของเสียงเพลงกับกระบวนการแบบเจาะลึกฉบับเด็ก วมว. มจธ.

เชื่อว่า “การฟังเพลง” คงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลาย ๆ คนชอบ และคงรู้อยู่แล้วว่าการฟังเพลงมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะช่วยให้เราหายเครียด ช่วยให้เราอารมณ์ดี ช่วยให้เรามีสมาธิ หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่เราอารมณ์เสียหรืออารมณ์ไม่ดี ถ้าสังเกตดี ๆ เพลงจะมีส่วนช่วยทำให้เราอารมณ์ดีและลดความหงุดหงิดลงได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น เสียงหรือดนตรีจึงมีความสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะส่งผลต่ออารมณ์และสมาธิของเรา เพราะยิ่งในสังคมปัจจุบัน เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นที่ออฟฟิศหรือที่บ้าน เราจึงต้องการสภาพแวดล้อมที่พร้อมต่อการจดจ่องาน

ในวันนี้จึงอยากชวนมาพบกับน้องๆ ที่มีความสนใจเรื่องเสียงเพลง กระวาน – กฤษพัชร วงค์ขวัญ, บิ้งค์ – ณัฏฐนิจ ตรีวิจิตรไพศาล, วินวิน – วสนานนท์ วงศ์สุรินทร์ ทั้ง 3 กำลังศึกษาที่โครงการ วมว. มจธ. หลายๆ คนอาจเคยคุ้นชื่อนี้มาบ้าง ซึ่งโรงเรียนนี้เป็นโครงการห้องเรียน วิศว์-วิทย์ ดรุณสิกขาลัย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยโครงงานนี้น้องๆ ได้ศึกษากระบวนการขั้นตอนแบบเจาะลึกผ่านการลงมือทำ และควบคุมดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง โครงงานนี้จะเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง เป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มองค์ความรู้ และพัฒนาต่อยอดกับอุตสาหกรรมไทยอย่างสร้างสรรค์และดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

จากความชอบ ความสนใจ เกี่ยวกับเพลงที่สามารถเรียกคืนความทรงจำให้กับผู้ป่วยอัลซัลเมอร์ได้ จนต่อยอดกลายมาเป็นโครงงานที่ว่าด้วย “เสียงจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้”

ที่มาของการทำโครงงาน

น้องๆ ทั้ง 3 ได้พูดถึงที่มาของการทำโครงงานนี้ ซึ่งเกิดจากการสังเกต และสงสัย ทำไมคนที่อารมณ์ดี หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เวลาที่ทำงานถึงมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่อารมณ์เสีย หน้าตาบึ้งตึง โดยโครงงานนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหา แต่เกิดจากการต่อยอดและสนับสนุนเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเสียง จากวิจัยเรื่องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และสมาธิ ของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ Neuroscience Centre for Research and Innovation (NX KMUTT) น้องๆ มองว่าหากมีตัวแปรเรื่องเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง จะส่งผลต่อการประมวลผลทางอารมณ์และสมาธิอย่างไร เพราะสมองของเราไม่ได้มี Inputแค่ภาพ หรือสิ่งที่ตามองเห็นเพียงอย่างเดียว แต่เรายังรับ Input สภาพแวดล้อมรอบๆตัว เข้ามาอยู่เสมอ

“เวลาที่เรายิ้มแย้มแจ่มใส ประสิทธิภาพการทำงานของเราจะดีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือทำเสียงเพื่อเป็นตัวแปรเพิ่มเติมเข้ามาแทรก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน”

จุดเด่นของโครงงานที่แตกต่างจากบททดสอบบนอินเทอร์เน็ต

แบบทดสอบที่พบบนอินเทอร์เน็ตส่วนมากจะเป็นการทำเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น บททดสอบเรื่องอารมณ์ บททดสอบเรื่องสมาธิ ที่จะช่วยประเมินระดับที่เราเป็นอยู่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณในการนำไปปรับใช้ 

แต่โครงงานที่น้องๆ ทำจะเป็นเชิงลึกและเฉพาะเจาะจงเพิ่มมากขึ้น โดยใช้แบบทดสอบ แฟรงเกิลทรัสต์ ที่มีการติดกล้องเพื่อดูการขยับบนใบหน้า และในระหว่างที่ทำแบบทดสอบจะมีเปิดเพลง ที่มีคลื่นเสียงที่เป็นเชิงบวก อย่างเสียงจากธรรมชาติ เช่น คลื่นทะเล เสียงน้ำตก เสียงนกเสียงไม้ และคลื่นเสียงที่เป็นลบ เช่น การจราจรแออัด เสียงคนพูดจอแจ โดยทั้งหมดนี้น้องๆ อ้างอิงจากวิจัยที่เคยอ่านมาเกี่ยวกับ อารมณ์ของคนเราจะส่งผลต่อการแสดงบนใบหน้าและยังทำให้สมองของเราประมวลผลตามไปด้วย เช่น หากเราทำหน้าโกรธ สมองจะประมวลผลว่าเรากำลังรู้สึกโกรธ

  “ในตอนนี้งานวิจัยที่ใช้เสียงเข้ามาเป็นตัวแปรกับอารมณ์และสมาธิ ถือว่ายังมีคนทำค่อนข้างน้อยมากๆ เรายิ่งต้องศึกษา ค้นหาข้อมูลที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น”

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำแบบทดสอบ

แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกตัวบุคคลที่ทำแบบทดสอบ ด้วยจุดเด่นของแบบทดสอบที่เฉพาะเจาะจงกับตัวบุคคล ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ยิ่งชี้เฉพาะมากขึ้น จะทำให้เราได้ตระหนักและรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นตัวช่วยที่ให้ข้อมูลทางเลือกเกี่ยวกับแนวโน้มเสียงของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงาน

ส่วนที่สอง คือการที่น้องๆ ได้เรียนรู้จากการทำโครงงานเรื่องนี้เอง นอกจากความสนุกจากการได้ลงมือทำจริงๆ ก็คงเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษากระบวนการแบบเจาะลึกที่จะเป็นประโยชน์ต่อโครงงาน ทั้งยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจริงๆ 

การนำโครงงานนี้ไปต่อยอดในอนาคต

น้องๆ เชื่อว่าการที่ได้ทำโครงงานนี้ จะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด หรือประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ได้ อย่างการนำกลยุทธ์  Neuromarketing มาใช้กับสื่อโฆษณาที่สามารถใช้เสียงและภาพดึงดูดความสนใจของลูกค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อเพิ่มมากขึ้น เช่น การศึกษาเรื่องเสียงและภาพ เพิ่มความสนใจเรื่อง VR เข้ามาอีกเพื่อความสมจริง ทั้งนี้ Step ต่อไปของน้องๆ จึงต้องเพิ่มองค์ความรู้ด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยศึกษากระบวนเชิงลึกของสมอง และใช้อุปกรณ์ที่เฉพาะกับสมองเพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

“คนทำเรื่องนี้ยังมีน้อยๆมาก จึงอยากเพิ่มองค์ความรู้ด้านนี้เพื่อนำมาสนับสนุน 
เป็นอีกทางเลือกให้กับคนไทย”

โครงงานนี้จะสร้างอิมแพคต่อสังคมอย่างไร

“อย่างแรก คือองค์ความรู้ด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปเป็นแนวทางสนับสนุนทางเลือกการตัดสินใจให้กับสังคม ได้เห็นถึงแนวโน้มผลกระทบของเสียงจากสภาพแวดล้อม ที่จะมาเป็นตัวช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี และอย่างที่สอง ต่อภาคอุตสาหกรรม คือสามารถนำเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้กับ กลยุทธ์  Neuromarketing (นิวโรมาร์เก็ตติ้ง) การตลาดแบบเข้าถึงจิตใต้สำนึก เป็นการศึกษาพฤติกรรมของสมองที่ใช้หลักการด้านประสาทวิทยาเข้ามาช่วยวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพราะเมื่อเราได้รู้จักกลไกการทำงานของสมอง ก็เท่ากับว่าเราจะ “รู้ใจลูกค้า” มากขึ้น โดยนำมาต่อยอดให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการหาสภาพแวดล้อมที่ดี น่าอยู่ น่าพักอาศัย น่านั่งทำงาน เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้กับผู้พักอาศัย หรือแม้แต่คนทั่วไปเองก็สามารถนำมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกทำเลที่พัก สถานที่”

องค์กร หรือบริษัทแบบไหนที่มาเป็นส่วนช่วยสนับสนุนต่อยอดโครงงาน

หากศึกษา กลไกของสมอง อยากจะทำงานร่วมกับ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ Neuroscience Centre for Research and Innovation (NX)  ที่สถาบันการเรียนรู้ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่วัดการทำงานของสมองโดยใช้กระแสไฟฟ้า มีสถานที่และอุปกรณ์ที่เพียงพอในการศึกษาเรียนรู้ และหากมีอุปกรณ์ที่สามารถวัดผลได้อย่างแม่นยำ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการประมวลผลจากตัวแปรที่ได้ดียิ่งขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะแม่นยำ และเข้าใจมากยิ่งขึ้น

และอีกหนึ่งปัจจัยคือองค์ความรู้เรื่อง เสียง น้องๆ อยากจะร่วมมือกับองค์กรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพลงและเสียง เพราะในตอนนี้ในโครงงานยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเสียง หากองค์กรอย่างคณะดุริยางคศิลป์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรี หรือจะเป็นดนตรีบำบัด ที่มีความใกล้เคียงสามารถมาเป็นส่วนช่วยในการสนับสนุน พัฒนาต่อยอดและสร้างผลลัพธ์ที่ตอบสนองต่อสังคมได้ดียิ่งขึ้น

โรงเรียนมีส่วนสนับสนุนเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

“โรงเรียนเป็นเหมือนตัวกลางที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานกับนักวิจัยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านอารมณ์สมาธิ อีกทั้งในตอนทำโครงงาน เราได้คุยงาน ขอคำปรึกษา ลงมือปฏิบัติโดยใช้เครื่องมือจริงๆ ที่ทีมนักวิจัยใช้กับการทำงานร่วมกับสมอง การที่เราได้ลงมือทำเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้เราอยากจะเรียนรู้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งต้องขอบคุณทางโรงเรียนที่มีส่วนช่วยสนับสนุน และส่งเสริมให้เราได้ทำโครงงานนี้ออกมาจริงๆ”

อาจารย์ : เด็กๆ จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นครูในโรงเรียน และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้คำปรึกษาในการทำงาน โดยอาจารย์จากหน่วยวิจัย NX KMUTT จะอยู่ในกลุ่มวิจัยหน่วยสมองของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อว่าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ Neuroscience Centre for Research and Innovation (NX) โดยสถาบันนี้ทางมหาวิทยาลัยวางแผนมาเป็นระยะเวลา 10 ปี มีการส่งนักวิจัยด้านสมองไปศึกษาเพิ่มเติม ปัจจุบันกลุ่มวิจัยหน่วยสมองของมหาวิทยาลัย มีนักวิจัยทั้งหมด 4-5 ท่าน มีอาจารย์บางท่านทำงานอยู่ในสมาคมประสาทวิทยาของประเทศไทย 

โดยทางมหาวิทยาลัยมีการทำงานร่วมกับหน่วยงาน โรงพยาบาล อย่างเช่นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพราะทางโรงพยาบาลมีเครื่องมือที่ชื่อว่า MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่สามารถแสกนสมองได้ลึกกว่า EEG (Electroencephalogram) โดยที่ผ่านมาเราได้ส่งนักเรียนไปลองใช้อุปกรณ์ MRI เพราะเรามีวิชาในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นนอกจากสถาบัน โรงพยาบาลก็มีส่วนที่สำคัญในการสนับสนุน เราเป็นนักวิจัยไม่ใช่หมอ หากอยากที่จะเข้าใจสมองมากยิ่งขึ้น จึงต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ดังนั้นกลุ่มวิจัย NX KMUTT จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 2-3 ที่ โดยจะมีอาจารย์หมอเข้ามาช่วยในกลุ่มวิจัยนี้ด้วย อาจารย์เชื่อว่าอีกไม่นาน 5-10 ปี แลปวิจัยนี้จะเป็นที่รู้จักเพิ่มมากยิ่งขึ้น และในส่วนโครงงานของเด็กๆ ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นโรงพยาบาล เพราะเราทำในขอบเขตพื้นฐานที่ทำกับคอมพิวเตอร์ หากทำในขั้นตอนนี้ผ่านแล้ว จึงจะขยับไปในระดับที่เชิงลึกมากยิ่งขึ้น 

“การศึกษาเป็นกลไก เป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการของสังคม การที่เด็กมีพื้นฐานขององค์ความรู้ ที่ตอบโจทย์โลกในอนาคต ทักษะที่ทำให้พวกเขาหางาน ทำงานได้ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ แน่นอนว่าหลักสูตรการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเตรียมพร้อมให้กับพวกเขา นอกจากมีผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงแล้ว การที่เรามีพาร์ตเนอร์กับองค์กร สถาบันที่พร้อมได้มาตรฐาน การถ่ายทอดวิชาและประสบการณ์ของผู้คนในแวดวงธุรกิจ สถาบันที่ปฏิบัติงานจริงๆจะมีส่วนช่วยสนับสนุน ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนให้พร้อมกับการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี”