รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ปรารภกับอธิบดีกรมอาชีวศึกษาว่า ประเทศไทยยังขาดผู้ประสานงาน ระหว่างวิศวกร และ Skill Labours อีกมากการผลิตช่างเทคนิคในสมัย พ.ศ. 2500 ต้องใช้เวลา 6 ปี กล่าวคือ รับนักเรียนจบชั้นมัธยม 3 เรียนต่อวิชาช่างอุตสาหกรรม 3 ปี ได้วุฒิ ปว.ช. แล้วออกทำงานหรือศึกษาต่อ ในวิทยาลัยเทคนิคอีก 3 ปี ได้วุฒิ ปว.ส. จึงจะทำหน้าที่ช่างเทคนิคได้

ระหว่างสำรวจหาสถานที่ตั้งวิทยาลัย ท่านอธิบดีสนั่น สุมิตร พบว่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการขอเช่าไว้ 32 ไร่ ปลูกสร้างอาคารไม้สองชั้นแบบมาตรฐาน 14 ห้องเรียน เสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 พร้อม ทั้งบ้านพักครูใหญ่ และโรงอาหาร อีกครึ่งหลัง ได้ถูกทิ้งว่างไว้ แม้จะยังไม่มี ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ก็ยังมีอาคารพร้อมที่จะให้ใช้ได้ทันที ท่านอธิบดี จึงเสนอสถานที่นี้ เป็นที่ตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ ให้ชื่อว่า “ วิทยาลัย เทคนิคธนบุรี ”

กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้ง “ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 รับผู้จบเตรียมอุดมศึกษา (ม.6 ปัจจุบัน) เฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ศึกษาต่อ 3 ปี ได้วุฒิ ปว.ส. นับเป็นวิทยาลัยเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทย ที่รับผลิตช่างเทคนิคจากผู้จบชั้นสูงสุดสายสามัญ กรมอาชีวศึกษา แต่งตั้งนายประภา ประจักษ์ศุภนิติ อาจารย์เอกหัวหน้าฝ่ายวิชาช่างก่อสร้าง คณะวิชาเทคนิค จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย พร้อมทั้งอนุมัติให้อาจารย์จากวิทยาลัยเดียวกัน มาร่วมงาน อีก 6 ท่าน คือ นายสมพงษ์ ปัญญาสุข นางสาวอุบล จันทกมล นายอุทัย แก้วช่วง นายสุธรรม ทวิชศรี นายทนง รุ่งโรจน์ดี และนายอิทธิศักดิ์ ทองคำ

อาจารย์สนั่น สุมิตร อธิบดีกรมอาชีวศึกษา พบทางสว่างจึง เสนอให้โครงการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิค แห่งใหม่ในสังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค เพื่อสนองความต้องการของรัฐในด้านช่างเทคนิคโดยรวดเร็วขึ้น คือ รับผู้สำเร็จ เตรียมอุดมศึกษาสายวิทยาศาสตร์ เข้าศึกษาต่อ 3 ปี กระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติโครงการนี้ตั้งแต่พฤศจิกายน พ.ศ. 2502

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีสถาปนาขึ้นมาจากวิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี ซึ่งเป็นวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2503 และในปี 2514 ได้รวมกับวิทยาลัยเทคนิค พระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน เป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี 2517 ได้ยกฐานะ เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และในปี 2529 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมในทบวงมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. 2541 ได้กำหนด ให้มีฐานะเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคล พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 11 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2541

จากอดีตสู่ มจธ.

ปี พ.ศ. 2503

กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้ง “วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 รับผู้จบเตรียมอุดมศึกษา (ม.6 ปัจจุบัน) เฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ศึกษาต่อ 3 ปี ได้วุฒิ ปว.ส. นับเป็นวิทยาลัยเทคนิค แห่งแรกในประเทศไทย ที่รับผลิตช่างเทคนิคจากผู้จบชั้นสูงสุดสายสามัญ กรมอาชีวศึกษา แต่งตั้งนายประภา ประจักษ์ศุภนิติ อาจารย์เอกหัวหน้าฝ่ายวิชาช่างก่อสร้างคณะวิชาเทคนิคจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยพร้อมทั้งอนุมัติให้อาจารย์จากวิทยาลัยเดียวกันมาร่วมงาน อีก 6 ท่าน คือ นายสมพงษ์ ปัญญาสุข นางสาวอุบล จันทกมล นายอุทัย แก้วช่วง นายสุธรรม ทวิชศรี นายทนง รุ่งโรจน์ดี และนายอิทธิศักดิ์ ทองคำ

ปี พ.ศ. 2511

23 กรกฎาคม 2511 คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการสถาบันเทคโนโลยี ธนบุรี ในที่ประชุม และเห็นชอบให้จัดตั้งได้ แต่ให้เรียกชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยี” กับให้รวมวิทยาลัย เทคนิคไทย-เยอรมัน พระนครเหนือ และวิทยาลัยโทรคมนาคม ไว้ในสังกัดด้วย ต่อมาได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อกรมอาชีวศึกษาในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2511

ที่ประชุมคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยี ระดับกระทรวงได้ลงมติผ่านร่างนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2511 และเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระดับกระทรวง แก้ไขปรับปรุงถ้อยคำเป็นขั้นสุดท้าย ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี

ปี พ.ศ. 2513

13 มกราคม 2513 คณะรัฐมนตรีลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ที่เสนอไป ให้คงชื่อ “สถาบันเทคโนโลยี” ไว้ตามเดิม แต่ให้แก้ร่างพระราชบัญญัติเดิมให้ชัดว่า การศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญา ในวิทยาลัยทั้งสาม ที่ดำเนินการอยู่แล้ว จะต้องให้คงดำเนินการอยู่ต่อไป และสำหรับผู้ที่จะศึกษาเป็นครูปริญญาทางนี้ ให้คัดเลือกจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาข้างต้น คือระดับวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งมีผลการศึกษาดีเด่น และมีคุณสมบัติเหมาะสม
ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม 2513 สถาบันเทคโนโลยีธนบุรี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้นาม “พระจอมเกล้า” เป็นชื่อของสถาบัน นามภาษาอังกฤษ “King Mongkut’s Institute of Technology”

ปี พ.ศ. 2525

ในวันที่ 22 ตุลาคม 2525 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อสักการะบูชาในโอกาสครบ 180 ปี แห่งวันพระราชสมภพ (18 ตุลาคม 2527) และ 25 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาเขตธนบุรี (4 กุมภาพันธ์ 2528)

ปี พ.ศ. 2528

2-8 กุมภาพันธ์ 2528 คณะกรรมการเฉพาะกิจซึ่งมีอาจารย์อุบล จันทกมล เป็นประธานได้จัดงานครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาเขตธนบุรี เพื่อระดมเงินทุนสนับสนุนโครงการพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างเป็นทางการเป็น ครั้งแรก โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 นายพิชัย พันธวงศ์และคณะกรรมการเริ่มก่อสร้างแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์ จากกรมศิลปากรเพื่อตรวจดูหุ่นดินพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ และทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นได้มีการจัดพิธีอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นแท่นประดิษฐาน ในวันที่ 1 ธันวาคม 2528 โดยมีอาจารย์นนทฤทธิ์ ศโรภาส และคณะพร้อมด้วยผู้บริหารสถาบัน ทำพิธีบวงสรวง ณ พระบรมราชานุสาวรีย์

ปี พ.ศ. 2541

6 มีนาคม 2541 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้ปรับระบบเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 11ก โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เสด็จมาทรงเป็นประธานเปิดแพรคลุมป้าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541

6 Initiatives To Move KMUTT Forward

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกาศปักธงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2562 – 2572) ตามกรอบแนวคิด “สังคมปริวรรต พิพัฒน์อนาคต” Transforming society. Defining the future. เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กับ 6 Initiatives ดังนี้

1. พัฒนากำลังคนและเร่งสร้างพันธมิตรสำหรับอนาคต

(Developing human resources and accelerating partnerships for the future)

2. ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

(Digital transformation)

3. ธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพและตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ทำหน้าที่ของตนเองภายใต้ความเป็นพลเมือง

(Effective governance and good citizenship)

4. สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการสร้างผู้นำแห่งอนาคต

(Inspiring future leaders)

5. มหาวิทยาลัยสุขภาพดีและยั่งยืน

(Healthy and sustainable university)

6. มุ่งสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้

(Entrepreneurial university)

Top