ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก เป็นความสำคัญที่ มจธ. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีความสามารถมีสมรรถนะตรงกับความต้องการและการทำงานจริงในปัจจุบัน ระบบบริหารคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในรายวิชาและหลักสูตร หรือ Outcome Base Education Module จึงได้รับการนำมาปรับใช้ เพื่อให้การเรียนไม่ยึดติดกับเวลา แต่เน้นไปที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ ช่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องเรียนแบบออนไลน์ และการบริหารจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในอนาคต
KMUTT Voice ชวนน้องๆ นักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้แบบ OBEM: Outcome Base Education Module มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสะท้อนผลลัพธ์ เพื่อนำกลับมาพัฒนารูปแบบการศึกษาที่กำลังจะเปลี่ยนไป ให้ยิ่งตอบโจทย์ผู้เรียน และโลกยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
คณิศร ลีลาโศภิน
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์
“ผมมองว่าการเรียนแบบ OBEM ก็มีทั้งข้อดีและสิ่งที่ยังต้องปรับแก้ไขกันต่อไป แต่ยังไงโลกมันเปลี่ยน สถานการณ์มันเปลี่ยน การศึกษาก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี อย่างการสอบที่มีการแบ่งสอบถี่ขึ้นไปทีละโมดูล มันทำให้สามารถโฟกัสการเรียนไปทีละเรื่องที่ละจุดได้ ก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้นแน่ๆ แต่ข้อเสียก็คือเรื่องเวลา ที่ต้องใช้วันเสาร์อาทิตย์ในการสอบบ้าง เพื่อไม่ให้ตรงกับวิชาเรียนอื่นๆ ในแบบปกติ ปัญหาช่วงนี้ที่ต้องเรียนออนไลน์ก็มีพอสมควร เพราะอย่างปี1 ตอนนี้แทบจะยังไม่ได้เจอหน้าเพื่อนๆ กันจริงๆ เลย ไม่มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน มันทำให้ขาดอะไรบางอย่างไปอย่างพวกปฏิสัมพันธ์หรือคอนเนคชันที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียน และการทำงานในอนาคต และการต้องเรียนแบบออนไลน์อยู่กับบ้านก็เป็นอุปสรรคบ้างเหมือนกัน เพราะมีสิ่งรบกวนสมาธิในการเรียนง่าย เหล่านี้จึงเป็นข้อจำกัดที่ทับซ้อนกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเรียนแบบ OBEM พอสมควร แต่อย่างไรก็ตามการที่มหาวิทยาลัยมีเครื่องมือและเทคโนโลยี หรือพี่ๆ ทีมผู้ช่วยสอนมาคอยสนับสนุนและให้การช่วยเหลือระหว่างเรียน ก็ช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้บ้าง คิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักพักให้ระบบและรูปแบบมันเข้าที่เข้าทาง และการปรับตัวของนักศึกษามีมากขึ้นก็น่าจะดี ช่วงนี้จึงอยากให้มหาวิทยาลัยรับฟังเสียงสะท้อนจากนักศึกษาแล้วนำไปพัฒนาให้ดีขึ้น ในขณะที่นักศึกษาเองก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วย”
ปรียา สะอาดศรี
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์
“การแบ่งเป็นเนื้อหาเป็นโมดูลสามารถเก็บเนื้อหาได้มากขึ้น ไม่ต้องทิ้งส่วนไหนไป มีเวลาอ่านทบทวนในแต่ละส่วนได้เยอะ ส่วนที่ต้องปรับคือเรื่องการสอบ เพราะเราเรียนจันทร์ถึงเสาร์ แล้วไปสอบวันอาทิตย์ ก็ต้องไปอ่านเตรียมสอบช่วงกลางคืนเอา ทำให้วันที่ควรเป็นวันหยุด หรือช่วงนอกเวลา เราไม่ได้พัก เพราะวันจันทร์ก็ต้องไปเรียนอีก มันอาจจะหนักไป และพอมีการแบ่งย่อยเรียนแล้วสอบจบโมดูลไป บางครั้งรู้สึกมันเหมือน short memory จำได้ระยะสั้นๆ เพราะเราต้องเริ่มเรียนเรื่องใหม่แล้ว แต่ก็มีข้อดีคือรูปแบบนี้มีส่วนช่วยเด็ก เพิ่มโอกาสให้นักศึกษามากขึ้น เพราะเราสามารถสอบแก้ตัวได้ ไม่เหมือนแบบเดิมที่พอไม่ผ่านก็ต้องไปลงเรียนใหม่เลย ส่วนรูปแบบการเรียนในฝันก็อยากได้แบบไม่ต้องมีการบ้านมากเกินไป ต้องการการบ้านที่ตรงจุด ตรงเนื้อหา เราต้องมีการบ้านดีๆ ที่ช่วยให้เรามีทักษะในเรื่องที่เราเรียนรู้จริงๆ ไม่ใช่แบบที่ทำเยอะๆ แต่ไม่ได้ช่วยเสริมความเข้าใจหรือพัฒนาทักษะที่ควรมี”
นัฐมล เต่งแก้ว
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
“การปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการศึกษามีความสำคัญ เพราะปัจจุบันได้รับผลกระทบจากทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เข้าไปเรียนในพื้นที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ และผลกระทบจากโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การศึกษาเรียนรู้ด้วยรูปแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว ในฐานะผู้เรียนก็ต้องปรับตัวกับรูปแบบและวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ อย่างรูปแบบ OBEM ที่มหาวิทยาลัยต้องการเน้นไปที่สมรรถนะของผู้เรียน จะต้องได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายของการเรียนรู้ นอกจากความเข้าใจยังต้องทำได้จริง
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือมีการแบ่งเนื้อหาในรายวิชาออกเป็นโมดูล เราสามารถโฟกัสไปทีละโมดูลได้ แต่ก็จะมีการสอบถี่ขึ้น ยิ่งในเทอมแรกๆ เราลงเรียนถึง 7 รายวิชา ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มาก และพอมีการสอบบ่อยๆ บางทีก็ไม่ค่อยมีเวลาในการทบทวนมากนัก ซึ่งเราต้องจัดลำดับความสำคัญและแบ่งเวลาให้ดี และเมื่อมีการสอบถี่ขึ้น การจัดตารางเวลาเรียนก็ต้องไปลงในวันหยุดเสาร์อาทิตย์บ้าง ทำให้เราแทบไม่มีเวลาส่วนตัว เวลาพักผ่อนน้อยลง ตรงนี้ก็ทำให้รู้สึกตึงเครียดบ้าง ถ้าสามารถจัดตารางเรียนและปรับกำหนดการสอบให้ดีกว่านี้ได้ และได้เวลาวันหยุดคืนมาบ้าง หรือมีเวลาสำหรับทบทวนมากขึ้นสักหน่อยก็น่าจะดีขึ้นค่ะ”
วลีพร ทองน่วม
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์
“หนูคิดว่าการเรียนการสอนในแบบ OBEM ที่มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นโมดูล สามารถโฟกัสแต่ละเรื่องย่อยได้ง่ายขึ้น ทำให้เครียดน้อยลง เพราะเราค่อยๆ เรียนไปทีละเรื่องๆ ได้ เสร็จก็มีการวัดผลความรู้ความเข้าใจ แล้วจึงไปเรื่องต่อไป แต่พอต้องสอบวัดผลทุกโมดูลก็ทำให้ต้องใช้เวลาในวันหยุด และมีการสอบที่ถี่มากขึ้นการเตรียมตัวหรือทบทวนเนื้อหาก็ไม่ค่อยมี เพราะต้องเรียนโมดูลอื่นในรายวิชาอื่นไปด้วย ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนหรือจัดการตารางเรียนได้ดีกว่าในปัจจุบันก็คงจะดี ส่วนเรื่องการสอนของอาจารย์ก็สอนได้ดีและมีความใส่ใจ แต่บางทีการไปดูคลิปล่วงหน้าก่อนสอนที่อาจารย์แนะนำมันไม่สะดวก เพราะใช้เวลาเยอะ เนื้อหาในคลิปบางส่วนก็ไม่เหมือนที่เรียนกับอาจารย์ทำให้งงและสับสนบ้าง อยากให้มีการสอบน้อยลงมีการปรับเรื่องเวลาที่ต้องไปใช้ช่วงวันหยุด ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้เรียน ส่วนรูปแบบการเรียนในฝันสำหรับหนูคือไม่เครียดมาก และไม่ต้องมีการสอบที่เยอะและถี่มากเกินไป”
สุภาวิตา พลสัมฤทธิ์
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์
“แบบเดิมเครียดมาก แต่เครียดครั้งเดียวคือช่วงสอบ แต่แบบ OBEM สอบแต่ละครั้งเครียดน้อยกว่า แต่เครียดบ่อยกว่า เพราะสอบบ่อยกว่า การแบ่งเนื้อหาเป็นโมดูลก็ช่วยให้โฟกัสสิ่งที่เรียนรู้ไปทีละเรื่องได้ ในอนาคตถ้าต้องเรียนเป็นแบบออนไลน์ไปเรื่อยๆ หนูคิดว่าการเรียนเป็นแบบแบ่งโมดูลก็เหมาะสมดี อีกอย่างถ้ามีเหตุฉุกเฉินจริงๆ ในช่วงการสอบ ยังมีการแบ่งเฉลี่ยคะแนนย่อยๆ เป็นหลายครั้ง ทำให้ลดความเสี่ยงที่ต้องลงเรียนใหม่ การดูคลิปมาก่อนก็มีข้อดี คือบางเนื้อหามันยัดใส่มาในเวลาเรียนไม่ได้ เราก็ดูเพิ่มเติมเพื่อเตรียมก่อนเรียนได้ ถ้ามีกลุ่มเพื่อนคอยช่วยเหลือกันระหว่างเรียนก็จะช่วยได้บ้าง ต้องมีกิจกรรมที่ช่วยสร้างโอกาสให้ได้เจอเพื่อนในกลุ่มเรียนบ้าง ส่วนเรื่องการสอบ หนูเข้าใจว่าข้อสอบต้องมีการพลิกแพลงบ้าง แต่เนื้อหาข้อสอบควรสัมพันธ์กับเวลา หรือสัมพันธ์กับเนื้อหาที่สอน เพราะถ้าเยอะเกินนักศึกษาจะทำไม่ทัน”