ศิลปะไม่ได้ให้เพียงความรู้สึก แต่ยังมีเรื่องราวที่ผูกพันกับชีวิตให้ชวนขบคิดผ่านมุมมองของชาว มจธ.

หลายๆ คน อาจจะคุ้นชิ้นกับคำนี้ “ศิลปะบางชิ้นอาจไม่ได้มีไว้ให้เข้าใจ แต่มีไว้ให้รู้สึก” แต่ในครั้งนี้ เราจะบอกเล่าเรื่องราวการจัดนิทรรศการศิลปะ ที่อาจไม่ได้ให้เพียงความรู้สึก แต่ยังมีเรื่องราวที่ผูกพันกับชีวิต ให้ชวนขบคิดผ่านมุมมองของชาว มจธ. กับการรังสรรค์เป็นผลงานศิลปะให้เราได้ยืนมองและขบคิด

ลองจินตนาการว่าสนุก ท้าทายมากขนาดไหน หากโจทย์งานในกลุ่มนักศึกษาคือการนำความรู้ที่เรียนในห้องเรียน มานำเสนอออกมาในรูปแบบนิทรรศการศิลปะ ที่เปิดกว้าง ศิลปะหลากหลายแขนง ที่ไม่ใช่แค่การ์ตูนอนิเมชั่นเพียงอย่างเดียว

จะน่าสนใจ ตื่นเต้นยิ่งกว่าไหม เมื่อชิ้นงานบางอย่าง ไม่ใช่แค่การนั่งหน้าคอมเพียงอย่างเดียว แต่นักศึกษาต้องลงพื้นที่ ปลดปล่อยพลังแห่งการเรียนรู้เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม ที่ต้องลงพื้นที่จริงๆ

จะน่าภูมิใจมากขึ้นเพียงใด ถ้านักศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีก็มีผลงานศิลปะจัดแสดงเป็นนิทรรศการด้วย โดยงานนี้เป็นโครงงานจบการศึกษาของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

หากได้เดินดูการจัดนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้ จะเห็นถึงแววตาที่เปล่งประกายความตั้งใจ สดใสและมาพร้อมกับขอบตาที่ดำคล้ำ กับผลงานการจัดนิทรรศการ Muti exhibition: Modernizing the future ในวันนี้เราจึงชวนทุกคนมาฟังมุมมองในหัวข้อต่างๆ กับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษาผ่านบทสัมภาษณ์นี้

อาจารย์จิรุจน์ พัฒนจันทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

ล่าถึงที่มาของการจัดกิจกรรมนี้ว่า เดิมทีจะมีการจัดนิทรรศการจากโครงงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ทุกปี แต่พอเจอสถานการณ์ Covid 19  ทำให้การจัดนิทรรศการห่างหายไปนาน จึงมีการประชุมงานในสาขา สรุปกันว่าการจัดกิจกรรมนี้เป็นโอกาสของนักศึกษาซึ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น จึงผลักดันรือฟื้นให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง โดยวัตถุประสงค์หลักๆ คือ การมองเห็นศักยภาพในตัวนักศึกษา จึงอยากผลักดันเพื่อเป็นช่องทางให้ผลงานของนักศึกษาได้เฉิดฉาย เพราะตัวนักศึกษาเองนั้นมีศักยภาพ มีความตั้งใจ กระตือรือร้นในการทำงาน จึงควรเผยแพร่ผลงานเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ถึงความสามารถ ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ว่ามีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร

จากการได้สัมภาษณ์และเห็นผลงานของนักศึกษาที่มาจัดแสดง รับรู้ได้ถึงความตั้งใจ ความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอผลงานของตัวเองจริง และสาขาวิชานี้เป็นสาขาวิชาที่น่าสนใจทำอะไรได้หลายอย่าง ซึ่งในงานวันนั้น นอกจากจะมีนิทรรศการแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็น การฟังแขกรับเชิญพิเศษจากบริษัทภายนอกและกิจกรรม Photo Booth เราเชื่อว่าแม้การประชาสัมพันธ์กิจกรรมในครั้งนี้อาจเร็วไปบ้าง แต่เชื่อว่าถ้าไฟมันติด มันจะส่องจนเห็นหนทางไปต่อข้างหน้า ดังนั้นเราต้องลงมือทำมันก่อน

ความยากของการจัดนิทรรศการศิลปะ

“เป็นความยากที่ท้าทาย” นายวรภพ หมื่นแสน ตัวแทนนักศึกษาที่จัดงานได้ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยความที่ไม่ได้จัดงานแบบนี้มานาน และผู้จัดเคยอยู่ในฐานะผู้เข้าร่วมมาก่อน ตอนนั้นอยู่ปี 1 พอขึ้นปี 4 เข้ามามหาวิทยาลัยอีกครั้งได้มาเป็นผู้จัดเลย จึงเป็นเรื่องที่ทั้งกดดัน ท้าทาย ตื่นเต้น และยากไปด้วยกัน แต่รุ่นพี่ปีที่ผ่านๆ มาจัดที่ Central world ปีนี้เลยลดขอบเขตลงมา โดยจัดที่มหาวิทยาลัยก่อน ทำให้ช่วยลดความกดดันลงมาได้เยอะ และการจัดนิทรรศการศิลปะในมหาวิทยาลัย ยังลดค่าใช้จ่ายในการจัดงาน เพราะได้รับความร่วมมือจากชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมาช่วย อย่างงชมรมไฟฟ้าก็มาดูเรื่องไฟ ชมรมบันเทิงและดนตรีสากลมาดูแลเรื่องเสียง ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่ายจึงทำให้งานนี้เกิดขึ้น

ความประทับใจที่เกิดขึ้น

อาจารย์จิรุจน์ พัฒนจันทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเล่าว่างานนี้ นอกจากนักศึกษาร่วมมือกันแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ถึงได้ผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี “ต้องขอบคุณหลายฝ่ายจริงๆ เพราะเขาอนุมัติในการใช้สถานที่รวมถึงผู้ดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ที่จัดงาน และด้วยตัวนักศึกษาเองมีความกระตือรือร้น วางแผนการจัดงานกันตั้งแต่ต้นจนจบ มุ่งมั่นที่จะให้งานนี้เกิดขึ้น แล้วทำออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด” อาจารย์จึงมีความประทับใจในตัวนักศึกษา แม้ในตอนแรกอาจกังวลบ้าง เนื่องจากไม่ได้จัดกิจกรรมในลักษณะนี้มานานมากแล้ว และนักศึกษาค่อนข้างใหม่กับการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ แต่พอในวันงาน เห็นของจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นบวกกับบรรยากาศในงาน เต็มไปด้วยความประทับใจ งานนี้ผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดีจริงๆ อาจารย์โล่งอกมากๆ

ให้คะแนนและประเมินผลงานศิลปะของนักศึกษา

อาจารย์ : ด้วยเด็กที่เรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมีความสามารถหลากหลาย งานที่จัดแสดงจึงมีความแตกต่างกันไป เกณฑ์ที่ดูจึงมีความซับซ้อนเล็กน้อย ซึ่งเกณฑ์ในการให้คะแนนจะแตกต่างตามประเภทของงานนั้นๆ อย่างเช่น website มีความต่างจากประเภทสื่อ หนังสั้น ฟิลม์ งานอนิเมชั่น เราจะมีหลักการกำกับ อย่างเช่น หลักการทางศิลปะ พวกสุนทรียศาสตร์ เราจะเอามาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ประเมินผลงานของนักศึกษา ความสมบูรณ์ของเทคนิคต่างๆ ที่นำมาออกแบบ

มุมมองของอาจารย์กับงานนิทรรศการศิลปะในมหาวิทยาลัย

อาจารย์ : อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นักศึกษาของเรามีทักษะความสามารถ  ความต้องการที่จะถ่ายทอดความคิดผ่านผลงาน  ตัวอาจารย์เองจึงมองว่างานนิทรรศการศิลปะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ทั้งยังเป็นช่องทางให้นักศึกษาได้เผยแพร่ผลงานที่แสดงถึงทักษะในด้านที่ถนัด ให้บริษัทที่เข้ามาร่วมงานได้เห็น

ปัจจัยที่ทำให้คนๆ นึง เดินเข้าดูงานนิทรรศการศิลปะ

โดยทางอาจารย์ได้บอกว่า มนุษย์เราขาดสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” ไม่ได้ อันนี้มันอาจค่อนข้างนามธรรมแต่ศิลปะมันสอดแทรกอยู่กับทุกอย่าง ในทุกๆ การใช้ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของรอบตัว ล้วนถูกประกอบมาจาก การคิดคำนวณทางศิลปะทั้งนั้น อาจารย์ยังบอกอีกว่าการที่เราใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบเพื่อการดำรงอยู่ซึ่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในแต่ละวันเพื่อหารายได้ เราอาจมองข้ามจุดนี้ไป

“การที่คนๆ นึงมีโอกาส เข้าชมงานนิทรรศการศิลปะ เป็นการเปิดมุมมองประสบการณ์ ให้เขาได้เข้าไปสัมผัสงานสุนทรียะ ที่ผูกพันกับการใช้ชีวิต งานบางอย่างถ่ายทอดมาจากเรื่องจริง อาจมาจากประสบการณ์ของผู้ออกแบบที่เห็นหรือพบเจอ ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของงานศิลปะ เราจะรู้ว่าศิลปะมันอยู่รอบตัว เราล้วนต่างซึมซับมัน

อาจารย์ยังบอกอีกว่า ทั้งนี้งานศิลปะมันแบ่งเป็นออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ศิลปะที่เป็นวิจิตรศิลป์ และพาณิชยศิลป์  แต่โดยสาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะเป็นงานศิลปะที่เกาะเกี่ยวอยู่กับลักษณะที่เป็นพาณิชยศิลป์ ซึ่งส่วนนึงสามารถนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ด้วย สรุปคือนอกจากจะใช้ในสายเอ็นเตอร์เทนเม้นท์แล้วยังสามารถนำมาใช้ในด้านการศึกษาได้ด้วย

นักศึกษา: การโปรโมทงานก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือผลงานที่จัดแสดงมีความน่าสนใจขนาดไหน “คนดูมาดูผลงานเรา แล้วเขาได้อะไรกลับไป” งานสาขาเราที่ผ่านมานอกจากจะมีการแสดงผลงานแต่ละส่วน เรายังมี Photo booth, Guest speaker และสิ่งสุดท้ายคือลักษณะการจัดงาน เราจะทำอย่างไรให้คนดูมีความกล้าที่จะเดินเข้าไปร่วมงานนิทรรศการ ซึ่งในส่วนนี้คือการจัดงานให้ดูน่าสนใจ น่าเดินเข้ามา โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับนักศึกษา

งานสายครีเอทีฟ กับการขับเคลื่อนสังคมสร้างสรรค์ในอนาคต

อาจารย์ : งานสายครีเอทีฟมันไปผูกพันกับงานนวัตกรรม งานนวัตกรรมที่ปราศจากงานสร้างสรรค์เราจะเห็นได้ว่าแทบไม่มี เพราะมันขาดไม่ได้ งานสายครีเอทีฟจึงมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมในลักษณะของการสร้างสรรค์ เทคโนโลยีต่างๆ ล้วนใช้การออกแบบมาเกี่ยวข้อง เช่น UX/UI การออกแบบหน้าเว็บไซต์ เพื่อการเข้าถึงต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่อยากฝากถึง

อาจารย์ : อาจารย์อยากให้มีงานนิทรรศการศิลปะในทุกๆ ปี อยากให้เป็นวัฒนธรรมของสาขา โดยในงานถัดๆ ไป มีสิ่งที่อยากแนะนำคือ อยากให้พื้นที่ในการจัดงานมองเห็นได้จากระยะไกล สร้างการเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ด้วยความที่งานนี้อาจฉุกละหุกนิดนึง  คนทั่วไปอาจมองไม่เห็นเลยต้องอาศัยการประชาสัมพันทางออนไลน์เยอะ

นักศึกษา : ไม่ว่าจะจัดงานนิทรรศการศิลปะในมหาวิทยาลัยหรือด้านนอก ล้วนมีความสำคัญต่อมนุษย์เรา อย่างงานที่จัดไป เราทำแบบปฏิสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เข้าชม นอกจากมาดูงานศิลปะยังได้ความรู้ ความสนุกกลับไป และเราอยากให้มีการจัดนิทรรศการศิลปะที่เยอะมากกว่านี้ เพราะพื้นที่ LX มันเหมาะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มาจัดกิจกรรม

เจ้าของผลงาน Serendipity กาลครั้งหนึ่ง ฉันพบเธอ ที่ได้รับรางวัล Popular vote

นาย วรภพ หมื่นแสน (ตัวแทนกลุ่ม) : ผลงานชื่อ“Serendipity กาลครั้งหนึ่ง ฉันพบเธอ” เป็นสื่อแอนิเมชั่น 3 มิติ ประยุกต์การนำเสนออนิเมะญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิค Cel Shading กรณีศึกษา Makoto Shinkai ครับ โดยเรามีแนวคิดในการออกแบบมาจากการได้ฝึกงานแล้วเดินทางตรง BTS อารีย์ เราจึงอ้างอิงสถานที่มาจากที่นั่น โดยมีคอนเซ็ปต์ในเรื่อง จะเกี่ยวกับความบังเอิญ การอยู่ถูกที่ถูกเวลา แบ่งเป็น 3 ช่วง เวลา สถานที่ ความรู้สึก

สิ่งที่เรียนกับการประยุกต์ใช้

นาย วรภพ หมื่นแสน (ตัวแทนกลุ่ม) : นำวิชา Character design มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบตัวละคร จริงๆ กลุ่มเราได้อ้างอิงมาจากเพื่อนในทีมครับ ทั้งสถานที่ก็มาจากการฝึกงาน โดยเรากำหนด Key word, Concept Art

จุดที่ยากที่สุดในการออกแบบ

นาย วรภพ หมื่นแสน (ตัวแทนกลุ่ม) : นำสิ่งที่อยู่ในหัว ออกมาทำจริงๆ น่าจะยากที่สุดแล้วครับ เพราะตอนคิดเราคิดฟุ้งๆ อยู่แล้ว พอลงมือทำ เราจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง

การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ อาจเปรียบเสมือนหนังสือสะท้อนแนวความคิด เพราะเรื่องบางเรื่องเนื้อหาบางอย่าง ผู้คนอาจมองผ่าน แต่หากนำเสนอเนื้อหาผ่านศิลปะมันทำให้ผู้คนได้เข้าถึง ขบคิดกับเรื่องราว อยากเข้ามาอ่าน เข้ามาเรียนรู้มากขึ้น “แม้หนังสือจะมีเนื้อหาเหมือนกัน แต่หน้าปกไม่เหมือนกัน คนเลือกซื้อย่อมต่างกัน”

รายชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์
อาจารย์ : อ.จิรุจน์ พัฒนจันทร์
รายชื่อทีมนักศึกษา (ได้รับรางวัล Popular vote ในผลงาน Serendipity กาลครั้งหนึ่ง ฉันพบเธอ)
นาย วรภพ หมื่นแสน, นาย ออมทรัพย์ เรืองฤทธิ์, นาย ปัณณวิชญ์ ทวีกุลโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4
ตัวอย่างผลงาน : https://www.youtube.com/watch?v=9TytH5Cw6-Q