ผนึก 3 หน่วยงาน มจธ. กทม. สสส. ลงนาม MOU ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบต้นไม้ลดฝุ่นและการสื่อสารรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมนพพันธ์ ชั้น 3 อาคาร 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบต้นไม้ลดฝุ่นและการสื่อสารรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมมือในการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมและพื้นที่สีเขียวเพื่อลดผลกระทบของฝุ่น ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูล ระดมความคิด ดำเนินการจัดหาทรัพยากรในการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมและพื้นที่สีเขียวเพื่อลดผลกระทบของฝุ่น ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการสร้างและดูแลนวัตกรรมและพื้นที่สีเขียวเพื่อลดผลกระทบของฝุ่น วิเคราะห์ติดตามผลการสร้างนวัตกรรมและพื้นที่สีเขียวเพื่อลดผลกระทบของฝุ่นโดยมุ่งเน้นประโยชน์และสุขภาวะของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน โดยมีกำหนดกรอบระยะเวลา 3 ปี

            ผศ.ดร.บุณยพัต สุภานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลักดันการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นเวลามานานกว่า 10 ปีแล้ว จนก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน หากแต่ที่ผ่านมาองค์ความรู้เหล่านี้ถูกจำกัดขอบเขตอยู่ภายในมหาวิทยาลัย สำหรับการเรียนการสอนและงานวิจัยเชิงลึกเป็นหลักเท่านั้น ดังนั้นการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงพื้นที่มีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย วันนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญ ในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ภายในมหาวิทยาลัยสู่การปฏิบัติจริงในเชิงพื้นที่ รวมทั้งเป็นหนึ่งในแนวทางการลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างยั่งยืน”

            คุณประพาส  เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการถนนสวยเขตดินแดงเป็นเขตนำร่องการดำเนินงานวิจัย  ซึ่ง มจธ.และ สสส.ได้นำเสนอให้ กทม.ร่วมกัน
ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกัน อันจะยังประโยชน์ให้กับประชาชนกรุงเทพมหานคร ในการลดผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่นละอองขนาดเล็กฝุ่นพีเอ็ม 2.5  กทม.จะร่วมสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้มีการใช้ประโยชน์จริงโดยแพร่หลายในเขตต่างๆ ของพื้นที่กรุงเทพมหานครและร่วมสนับสนุนในด้านอื่นๆ โดยมุ่งเน้นประโยชน์และสุขภาวะของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ”

            ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวเสริมว่า “ในช่วงไม่กี่ปี
ที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ มีปริมาณเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงฤดูหนาวช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี อันตรายของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ พบว่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรังและโรคมะเร็ง ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความกังวลถึงสุขภาพของตนและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่างๆ”

            สสส. จึงได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5  ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่อื่นๆ รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร หนุนเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และการสื่อสารสาธารณะ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5   ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่วมกัน” ดร.ชาติวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย