มจธ. จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนสัญจร เยี่ยมชมงานวิจัยอัพเกรดสับปะรดภูแล สู่ Zero Waste ในพื้นที่ จ.เชียงราย

KMUTT held the Press Tour on “The corporative research on upgrading ‘Phulae’ pineapples to zero waste products” in Chiang Rai Province.

Date: March 29-30, 2024

Venue:  Mae Fah Luang University (MFU), Muang Chiang Rai District, Chiang Rai Province

กลุ่มงานการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการตลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเยี่ยมชมผลงานวิจัย “อัพเกรดสับปะรดภูแล สู่ Zero Waste ในพื้นที่ จ.เชียงราย” ระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม 2567 ณ ห้อง Food Maker Space อาคาร M-Square และอาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีอาหาร (S4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของอาจารย์และนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ข้ามศาสตร์ภายใต้โครงการวิจัย “การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโซ่การผลิตและการแปรรูปสับปะรดภูแล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี รศ.ดร.  อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เป็นหัวหน้าโครงการ

สับปะรดภูแลเป็นหนึ่งในสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ของจังหวัดเชียงราย นิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพร้อมบริโภค ซึ่งจากกระบวนการผลิตทำให้เกิดวัสดุเศษเหลือ เช่น เปลือก จุก และตาเป็นจำนวนมหาศาล แต่เดิมวัสดุเศษเหลือเหล่านี้นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์หรือเป็นปุ๋ยในการทำเกษตร รวมถึงมีโอกาสสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตหากมีการกำจัดที่ไม่เหมาะสม อีกสิ่งสำคัญคือ วัสดุเศษเหลือจากกระบวนการเหล่านั้นยังคงอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและโภชนาการ มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงได้  นอกจากนี้ในส่วนของภาคการผลิตจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรให้สอดรับกับนโยบาย Carbon Neutrality และ  Net Zero Emission ของประเทศไทย รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนข้ามแดนซึ่งอาจเป็นข้อกีดกันทางการค้าในอนาคต ภายใต้โครงการวิจัยนี้จึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือร่วมกันหลายภาคส่วนเพื่อติดตามและวิเคราะห์การปลดปล่อยคาร์บอนในโซ่การผลิตสับปะรดภูแล การใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือจากกระบวนการแปรรูปให้ครบทุกส่วน (Zero Waste) ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปสับปะรด และสร้างโอกาสการแข่งขันในการส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดพร้อมทานและแปรรูปไปยังต่างประเทศได้

โดยมี ผศ.ดร. สุทธิวัลย์ สีทา ผู้ช่วยอธิการบดี มฟล. กล่าวต้อนรับ และ รศ. ดร.วาริช ศรีละออง คณบดีคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. กล่าวถึงข้อมูลผลงานวิจัย เรื่อง “สารสกัดคุณภาพสูงจากเปลือกสับปะรด” รศ. ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. และทีมวิจัย ให้ข้อมูลผลงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มคุณภาพสับปะรดภูแลเพื่อการส่งออก ด้วยไมโครบับเบิ้ล” ผศ. ดร.วิรงรอง ทองดีสุนทร หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและวัสดุชีวภาพ สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มฟล. ให้ข้อมูลการใช้ประโยชน์จากใบและเปลือกสับปะรด ผศ.ดร. สุทธิวัลย์ สีทา และ ผศ.ดร. พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์ จากกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มฟล.  ให้ข้อมูลและนำชมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัสดุเศษเหลือของสับปะรด นอกจากนี้ รศ. ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. และ ผศ. ดร.สอนกิจจา บุญโปร่ง คณะสังคมศาสตร์ มก. นำเสนอผลงาน “โดรนและปัญญาประดิษฐ์ วิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” พร้อมสาธิตโดรนบินสำรวจไร่สับปะรดภูแลของบริษัท เบตเตอร์ ฟรุ๊ตส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมเป็นพื้นที่ทดลองในการทำงานวิจัยครั้งนี้ โดยมีคุณจันทร์หล้า ปินตาสืบ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ร่วมให้ข้อมูลการปลูกสับปะรดภูแลซึ่งมีการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำคาร์บอนเครดิต เตรียมพร้อมรับมือมาตรการการผลิตและส่งออกสับปะรดไปยังต่างประเทศ จากนั้น ในช่วงของกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรคณะสื่อมวลชนยังได้เข้ารับฟังการบรรยาย “ภาพรวมของโครงการวิจัยการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในโซ่การผลิตและการแปรรูปสับปะรดภูแล” โดย รศ. ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. และทีมวิจัย พร้อมเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปสับปะรด ห้างหุ้นส่วนจำกัด นงเยาว์ ฟู้ดส์โปรดักส์

เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่คณะวิจัยได้ลงพื้นที่ทำงานวิจัยในจังหวัดเชียงราย เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่มีโอกาส มีรายได้ ที่ดีขึ้นจากการทำไร่สับปะรด และสามารถส่งออกผลผลิตไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น โดยในระยะแรกเป็นการลงพื้นที่ทำงานวิจัยและเก็บข้อมูลในพื้นที่ทดลองเล็กๆ มีเพียงเกษตรกรเข้าร่วมไม่กี่ราย แต่ในระยะต่อไปของการทำวิจัยจะมีการขยายผลงานวิจัยให้ครอบคลุมพื้นที่การทำไร่สับปะรดทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย