มจธ. ร่วมกับ TKC, พนัสแอสเซมบลีย์, เจ็นเซิฟ และ เน็กซ์ พอยท์ ลงนามความร่วมมือ วิจัย พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมพลังดันอุตสาหกรรมรถไร้คนขับไทย

The MoU Signing ceremony for collaborative research and the autonomous electric vehicles development to enhance the Thai autonomous vehicles industry between KMUTT, Turnkey Communication Services Public Company Limited, Panus Assembly Company Limited, Gen Serv Company Limited, and Nex Point Public Company Limited

Date: March 22, 2023

Venue: Magic 1 Meeting Room, Miracle Grand Convention Hotel, Laksi, Bangkok

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ กับ 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ นายปิยะ จิราภาพงศา รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC, นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด, นางสาววรีมน ปุรผาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด และ นายคมสหัสภพ นุตยกุล กรรมการบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ณ ห้อง MAGIC 1 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

พร้อมกันนี้ได้มีเวทีเสวนา เรื่อง เทคโนโลยี 5G อนาคตยานยนต์ไร้คนขับ” โดยมี รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE (Mobility & Vehicle Technology Research Center) มจธ. ดร.ภาณุภัทร์ ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสายงานด้านโทรคมนาคม บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผศ.ดร.วิมล แสนอุ้ม ผู้อำนวยการหน่วยกลยุทธ์ธุรกิจนวัตกรรม บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด นางวรีมน ปุรผาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด และ นายคมสหัสภพ  นุตยกุล กรรมการบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ความรู้ถึงแนวทางการร่วมกันพัฒนารถไร้คนขับในประเทศไทย โดยนำความรู้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย และบริษัทมาร่วมทำ “โครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชั่นระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน”

สำหรับโครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ อย่างน้อยระดับที่ 3 มีขนาดไม่น้อยกว่า 20 ที่นั่ง สื่อสารร่วมกับโมบายแอปพลิเคชันระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน เพื่อศึกษาทดลองการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบที่วิ่งร่วมกับรถทั่วไปในท้องถนนจริง ศึกษาข้อมูลทางกายภาพในเขตพื้นที่เป้าหมาย ข้อมูลทางเทคนิค ข้อจำกัด และปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจหรือการควบคุมรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับได้ เพื่อทดสอบการนำเอาระบบสื่อสารภายใต้โครงข่าย 5G มาใช้งานระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับระบบอื่นๆ ในรูปแบบการติดต่อ สื่อ สาร C-V2X (Cellular-Vehicle-to-Everything) เพื่อนำข้อมูลจากการทดสอบมาใช้ในการกำหนดแผนและแนวทางข้อกำหนดเบื้องต้นของการใช้รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวในเขตโบราณสถานรวมถึงระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตามผู้เสวนาเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือครั้งนี้ และการร่วมทำโครงการฯ จะเป็นโครงการนำร่อง จุดเริ่มต้นของการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องรถไฟฟ้าไร้คนขับ พัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมนี้ ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับไทยให้เติบโตต่อไป