พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุมหารือความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการมูลนิธิโครงการหลวง

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อประชุมหารือความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการ โดยมี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวรายงานความเป็นมาความร่วมมือการดำเนินงานระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายสุเมธ ท่านเจริญ คณะทำงานศูนย์ส่งเสริมมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำสู่การร่วมหารือความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการและด้านอื่นๆ ระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมจธ. ในระยะต่อไป (ปี พ.ศ. 2564 – 2570)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีดำเนินงานวิจัยโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1-4 ดอยคำ พ.ศ. 2525-2537 โครงการไอทีหลังเขา พ.ศ. 2535-2547 แม่ฮ่องสอน ไอที วอลเล่ย์ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พ.ศ. 2547-2562 การศึกษาเด็ก เยาวชนด้อยโอกาส Science in Rural Schools (SIR) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ พ.ศ.2540-2555 และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน (ร่วมกับเครือข่าย)

ในปี พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ได้จัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อมูลนิธิโครงการหลวงและกิจกรรมวิชาการ” ในปี พ.ศ. 2549 ภายใต้แผนงานด้านพลังงาน ด้านวิศวกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนระบบเกษตรกรรม (Energy Engineering and Environment for Agriculture: 3E for A) โดยคณาจารย์ได้อาสาสมัครทำงานถวายในด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่มีความจำเพาะ อาทิ การสร้างระบบเย็นเร็วด้วยลมและน้ำ ด้านวิศวกรรมกระบวนการที่พัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการผลิต อาทิ การสร้างความสามารถศูนย์ฯ ในการบริหารจัดการต้นทุนในโรงคัดบรรจุและการสร้างความสามารถเชิงระบบทางวิศวกรรมให้แก่ศูนย์ฯ ในการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพหรือเพิ่มมูลค่าในการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม อาทิ ระบบควบคุมสภาวะแวดล้อมสำหรับพืชและประมงพื้นที่สูงการแปรรูปผลผลิต ด้านงานชุมชน อาทิ การฟื้นฟูระบบพลังงานสะอาดในชุมชน การบ่มเพาะผู้ประกอบการในชุมชน ตลอดจนงานบริการวิชาการฯ

ความร่วมมือด้านงานวิจัยปี พ.ศ. 2565 ใน 3 ด้าน งานวิจัยด้านเศรษฐกิจ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร smart farm สำหรับสตรอว์เบอรี่  และงานวิจัยด้านฐานข้อมูล (BIG DATA)

กรอบความร่วมมือระยะต่อไปปี พ.ศ. 2566-2570 ใน 6 ด้าน (1) ด้านการวิจัย โดยมีแผนความร่วมมือ ดังนี้ 1) การพัฒนาองค์ความรู้และข้อมูลสู่การเป็นหน่วยงานด้านดิจิทัล อาทิ วิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูล และการจัดเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจโครงการหลวง (Big data) วิจัยและพัฒนาพัฒนาการใช้เทคโนโลยีด้าน smart farm เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต วิจัยและพัฒนาเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ และวิจัยและพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ 2) วิจัยและพัฒนาการบริหารเชิงพื้นให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศบนพื้นที่สูง บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว และสถานีอ่างขาง 3) การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรให้แก่ชุมชน การพัฒนากระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์โครงการหลวง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด (2) ด้านการบริการวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บุคลากรของมูลนิธิโครงการหลวงและเกษตรกรในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเพื่อการเกษตร สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ศูนย์/สถานีโครงการหลวง (Master Plan) จำนวน 2 แห่ง สนับสนุนและให้คำปรึกษาในการออกแบบกลุ่มอาคารปฏิบัติการ และโรงชีวภัณฑ์ศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ ของมูลนิธิโครงการหลวง และการพัฒนาหลักสูตรแหล่งเรียนรู้ของศูนย์/สถานี (3) ด้านการพัฒนาบุคลากร สนับสนุนบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมงานโครงการหลวง โดยใช้พื้นที่โครงการหลวงเพื่อการเรียน การสอน การวิจัย และให้บริการวิชาการ ร่วมพัฒนาและยกระดับสมรรถนะ Re-skill และ Up-skill ศักยภาพบุคลากร เกษตรกร ของมูลนิธิฯ ในหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ หรือหลักสูตรระยะยาว เช่น การอบรมหลักสูตร DIGITAL LOGISTICS สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากโจทย์ปัญหาจริงและทำโครงงาน (Project-Base Learning) พัฒนาเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะให้แก่นักศึกษา โดยการใช้พื้นที่โครงการหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ ทดลอง ทดสอบ หรือฝึกปฏิบัติงาน/ฝึกสหกิจศึกษา ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานบนพื้นที่สูง การพัฒนาผู้นำความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ได้แก่ Smart Farmer, Young Smart Farmer และ Social Entrepreneur บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ/มีประสบการณ์ ที่เกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัย เข้ามาเป็นอาสาสมัคร/เป็นที่ปรึกษาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ อาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ต่อไป

การพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย มูลนิธิโครงการหลวงยินดีสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนการวิจัย การเรียน การสอน แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยการใช้พื้นที่ของศูนย์/สถานีฯ ทั้ง 39 แห่ง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง เป็นพื้นที่ทดสอบ ทดลองและวิจัย ตลอดจนการฝึกงานในรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษา รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณาจารย์ที่เข้ามาร่วมปฏิบัติงานกับมูลนิธิฯ เพื่อดำเนินการวิจัยตามโจทย์ที่เป็นความต้องการของมูลนิธิฯ (4) ความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัยและการร่วมหาแหล่งทุนวิจัยภายนอก (5) การจัดทำกรอบแผนงาน และงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล (6) การกำหนดกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือ

ในการนี้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการถาวร แสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 9 นิทรรศการทำงานกับโครงการหลวงและการทำงานกับชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ณ หอบรรณสารสนเทศ อาคารสำนักหอสมุด มจธ.