คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. จับมือกับ คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ด้านการพัฒนาบัณฑิตและการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาบัณฑิตและการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่าง มจธ. กับ มหาวิทยาลัยคริสเตียน โดยมีตัวแทนผู้ลงนามฝ่าย มจธ. นำโดย ผศ. ดร.ตุลา จูฑะรสก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งพยาน และ ตัวแทนผู้ลงนามฝ่ายมหาวิทยาลัยคริสเตียน คือ อาจารย์ ดร.ธฤษณุวัชร ไชยโคตร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมทั้งพยาน

โดยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และภาคีความร่วมมือ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นพร้อมทั้งแนวทางความร่วมมือระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565 โดยมีสาขาวิชาเอกฟิสิกส์วัสดุและเครื่องมือทางการแพทย์ ที่เน้นการวางรากฐานความรู้ และทักษะด้านวัสดุศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับประยุกต์ใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงการนำความรู้ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง มจธ. มีความพร้อมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังขาดองค์ความรู้และเครือข่าย ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ดังนั้นคณะผู้บริหาร คณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. และ คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยคริสเตียน จึงได้สร้างความร่วมมือและหารือแนวทางร่วมกันในการพัฒนาบัณฑิตและการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งความร่วมมือแรกระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย คือ การให้นักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกฟิสิกส์วัสดุและเครื่องมือทางการแพทย์ ได้เรียนรู้วิชาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง ณ มหาวิทยาลัยคริสเตียน และขยายผลความร่วมมือไปยังภาควิชาต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคณะต่าง ๆ ของ มจธ. ต่อไป ทั้งความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม และนำผลผลิตเหล่านั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อช่วยกันพัฒนาบัณฑิต ตลอดจนศักยภาพด้านการวิจัยของบุคลากร ให้มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน