ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มจธ. จับมือ เบทาโกร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยด้านการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยด้านการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ ระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ณ สำนักงานใหญ่ อาคารเบทาโกรทาวเวอร์ (นอร์ธปาร์ค) กรุงเทพฯ โดย รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , ผศ. ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ และ ผศ. ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับ คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเบทาโกร คุณถนอมวงศ์ แต้ไพสิฐพงษ์ (ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานบริหารส่วนกลาง) คุณไตรรัตน์ ทองปลอด (ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจโปรตีน) คุณสมศักดิ์ บุญลาภ (ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม) และคุณชาติชาย ลือกุลวัฒนะชัย (ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต) โดยมีคณะดำเนินงานของ มจธ. ร่วมเป็นสักขีพยาน

จุดประสงค์ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจเบทาโกร เพื่อตอบสนองกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ “Betagro Powering Change” ด้าน Supply Chain Resilience และ Digital Transformation ซึ่งในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะนำร่องศึกษาวิจัยและพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุกร หลังจากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจเบทาโกรต่อไป

ผศ. ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ได้กล่าวถึง โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ (Supply Chain & Logistics) ของธุรกิจในเครือเบทาโกร มุ่งเน้นความสำคัญของธุรกิจอาหารและปศุสัตว์ที่สร้างคุณค่าต่อสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน ในขณะที่มีความท้าทายต่างๆ เข้ามาอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งจากเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวและฝ่าฟันข้อจำกัดต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่น พร้อมทั้งก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญ ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ทั้งนี้ จากการที่เบทาโกรเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการผลิตอาหารและปศุสัตว์ของประเทศไทย ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำที่ยาวและมีความซับซ้อน การขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายในอนาคตจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความเป็นเลิศของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Excellence) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ของเบทาโกร ที่สร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวต่อไป