มจธ. เปิดศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านกระบวนการผลิตยาชีววัตถุ BTEC พื้นที่สำหรับการเรียนรู้และฝึกอบรมด้านกระบวนการผลิตยาชีววัตถุ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านกระบวนการผลิตยาชีววัตถุ (Biopharmaceutical Training and Education Center or BTEC) โดยมี รศ. ดร.ปานจันทร์ ศรีจรูญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี กล่าวต้อนรับ รศ. ดร.อัศวิน มีชัย กล่าวรายงานที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ฯ ดร.สมสลวย สุวรรณประสพ กล่าวถึงความร่วมมือของ บริษัท เมอร์ค จำกัด (Merck) ในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการศึกษา และได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวขอบคุณและเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ BTEC โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนักศึกษาเข้าร่วมพิธีเปิดและเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าว

จากนั้นได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางและนโยบายการพัฒนาบุคคลากรด้านการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีนของประเทศ” โดย ดร.อัญชลี ศิริพิทยาคุณกิจ ที่ปรึกษาสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหัวข้อ “Recent Technologies in biopharmaceutical manufacturing” โดย Mr. Somasundaram G., Senior Consultant for Asia Pacific, บริษัท เมอร์ค จำกัด ณ โรงประลองภาควิชาวิศวกรรมเคมี อาคารวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบรี

ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านกระบวนการผลิตยาชีววัตถุ (BTEC) แห่งนี้มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้และฝึกอบรมด้านกระบวนการผลิตยาชีววัตถุ ให้แก่นักศึกษาวิศวกรรมเคมี ในหลักสูตรวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ และโครงการ U-ChEPs สาขา Biopharmaceutical Engineering รวมถึงให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และจัดฝึกอบรมด้านกระบวนการชีววัตถุและวัคซีนให้แก่นักศึกษา นักวิจัย เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ในด้านการผลิตยาชีวัตถุ ที่มีความประสงค์จะเพิ่มพูนทักษะเดิมและเพิ่มเติมทักษะใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยในการเปิดศูนย์ BTEC ได้รับความช่วยเหลือจาก บริษัท Merck จำกัด ในการให้การสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ทางด้านการผลิตยาชีววัตถุ เพื่อใช้พัฒนาขีดความสามารถของภาควิชาวิศวกรรมเคมี ในการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถด้านการผลิตยาชีววัตถุ เพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ยาชีววัตถุ รวมถึงการผลิตสารชีวภัณฑ์มูลค่าสูงทางการแพทย์ในอนาคตต่อไป

ภาพข่าวโดย: คุณภาณุพงศ์ พันธ์บัวหลวง
กลุ่มงานการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการตลาด