เปิดฉากแล้วกิจกรรมรอบคัดเลือก Innovation for KMUTT Sustainability 2022 “KMUTT SDGs Transformation Contest” ส่งเสริมนักศึกษาคิดค้นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ณ ห้อง SCL124 อาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้มีการจัดกิจกรรมการประกวด Innovation for KMUTT Sustainability 2022 “KMUTT SDGs Transformation Contest” รอบนำเสนอแนวคิด (Proposal Presentation) โดยมี รศ. ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษากล่าวเปิดงาน ในการประกวดผลงานนวัตกรรมในครั้งนี้ ดร.ปนาลี แทนประสาน รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการนักศึกษา ร่วมให้กำลังใจนักศึกษาผู้เข้าร่วมประกวดและมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย ดร.ทัศนีย์วรรณ ลักษณะโสภิณ หัวหน้างาน KMUTT Entrepreneurship ศูนย์การสร้างเสริมนวัตกรรมระดับนักศึกษา (Hatch) ดร.รังสรรค์ เกียรติ์กานนท์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) คุณกิตติณัฐ แก้วทอง ศูนย์การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (EESH) ว่าที่ ร.ต. ณภพ ยางสูง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบริหารอาคารและสถานที่ และดร.ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล ประธานคณะอนุทำงานทุนการศึกษาเพชรพระจอมเกล้า ด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นผู้ตัดสินผู้ผ่านเข้ารอบ

โครงการประกวด Innovation for KMUTT Sustainability 2022 “KMUTT SDGs Transformation Contest” เป็นหนึ่งในกิจกรรมตอบรับต่อการขับเคลื่อนของ มจธ. ตามแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 13 ในการสร้าง Entrepreneurial mindset ให้กับนักศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง สู่ SDGs เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 โดยเปิดรับผลงานนวัตกรรมของนักศึกษาที่จะนำพามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ไปสู่ความยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนนโยบายของการพัฒนามหาวิทยาลัย คือ 1) การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ (Innovation with Execution) 2) การส่งเสริมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ มจธ. (For KMUTT Sustainability) และ 3) การส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ของ มจธ. (KMUTT Carbon Neutrality 2040) ซึ่งมีนักศึกษาให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมและมีข้อเสนอโครงการของผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การอบรม Incubation Workshop โดยศูนย์การสร้างเสริมนวัตกรรมระดับนักศึกษา (Hatch) จำนวน 15 โครงการ โดยมีทีมที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานในรอบ Proposal Presentation นี้ ทั้งสิ้น 8 โครงการ และผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 4 โครงการจะได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับพัฒนาต้นแบบวัตกรรมเพื่อนำเสนอในรอบชิงชนะเลิศ (Final Presentation) ต่อไป โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบ ได้แก่ 1) ทีมMDP KMUTT ผลงานR2SUS (Race to Sustainability) 2) ทีมPET Block ผลงาน ตัวต่อจากขยะขวดพลาสติก PET 3) ทีมหมูกะทะ ผลงาน META Wireless Charger for Electric Vehicles และ 4) ทีม Labtasoil ผลงานผลของการตกตะกอนจุลินทรีย์ (MICP) ที่มีต่ออิฐโบราณ