บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เปิดโรงงาน จ. พระนครศรีอยุธยา ต้อนรับ นักศึกษา และคณาจารย์ หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนโครงงานของนศ. ภายใต้ความร่วมมือ มจธ. – โอสถสภา

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ณ ศูนย์ประชุมกลางน้ำ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) จ. พระนครศรีอยุธยา คณะผู้บริหาร และบุคลากรโรงงาน ของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) จ. พระนครศรีอยุธยา นำโดย คุณปาจรีย์ แสงคำ ให้การต้อนรับ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา ในหลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) นำโดย ศ.ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล เข้าเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) จ. พระนครศรีอยุธยา ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในการทำโครงงานของนักศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมในการเรียนรู้ทักษะ และการทำงานจากประสบการณ์จริงร่วมกับสถานประกอบการ

โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ของโอสถสภาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ เพื่อที่จะได้เข้าใจ use case ที่ทางโอสถสภาใช้เป็นโจทย์ให้นักศึกษาทำโครงงาน และการเข้าเยี่ยมชมโรงงานในครั้งนี้นักศึกษาจะสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับการเรียนรู้ในห้องเรียน และการทำงานในอนาคตได้ต่อไป ซึ่งการเรียนการสอนของหลักสูตร ISE นั้น เป็นการเรียนรู้แบบพหุวิทยาการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ การประยุกต์และความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมระบบ ในสาขาระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า ระบบพลังงานและเคมี และระบบชีวภาพ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่มีประโยชน์ ต่อสังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงมีการฝึกปฏิบัติงานร่วมกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยที่นักศึกษามีอิสระในการออกแบบแนวทางการเรียนรู้ของตนเอง สามารถเลือกเรียนตามหัวข้อโครงงานที่ตนเองสนใจ นอกจากการเรียนรู้ในและนอกห้องเรียนแล้วนั้น นักศึกษาจะถูกฝึกฝนให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันแบบสังคม และการเป็นสมาชิกของสังคมที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยระบบ Residential College

หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) มจธ. ราชบุรี ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ให้นักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ มีคุณลักษณะและความสามารถตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นโดยใช้เนื้อหาสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ร่วมกับโจทย์ที่ได้รับจากสถานประกอบการจริง โดยในปัจจุบันหลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาในรุ่นที่ 1 แล้วกว่า 20 คน และกำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาในรุ่นถัดไป โดยสามารถติดตามข่าวสารของหลักสูตร ได้ที่ https://ratchaburi.kmutt.ac.th/teaching/intelligent-systems-engineering-course/  และhttps://www.facebook.com/RCKMUTT