เมื่อเรามีศักยภาพมากพอ…เราจำเป็นต้องไปช่วยเหลือคนอื่น แง่คิดดีๆ จาก พี่ตั้ม ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล

สวัสดีครับ ผมชื่อ ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หรือ พี่ตั้มนะครับเป็นนักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมครับ (สมัยที่เข้ามาเรียนปีหนึ่งยังไม่มีใครจบในหลักสูตรนี้เลย) เป็นรุ่นท้ายๆที่ยังมีการสอบ Entrance แต่เป็นรุ่นแรกๆ ในการบุกเบิก CB 5 (อาคารเรียนรวม 5) ครับ

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ มจธ. มาประมาณ 10 ปีแล้ว ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นต่อรุ่น รู้สึกดีใจที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ในวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
เข้าด้วยกัน เนื่องจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมของเราเป็นภาควิชาเล็กๆ ถึงแม้อาจจะห่างกันไปบ้าง แต่เรายังสนิทสนมกันเป็นครอบครัวใหญ่เหมือนเดิม

ความทรงจำสมัยเรียน

สมัยนั้นบางมดไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่มาก เลยทำให้เราได้เจอกัน รู้จักกันหมด ผมจำได้ว่าสิ่งที่ผมประทับใจที่สุดคือวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมอยู่หลังมหาวิทยาลัย เราอยู่ตึก CB5
ถ้าเราเดินไปหน้ามหาวิทยาลัย ไม่มีวันไหนที่ไม่มีใครไม่ทักผมเรารู้จักกันทุกภาควิชา คณะสถาปัตย์สมัยนั้นอยู่ชั้น 8 เรียกได้ว่าสนิทกันเลย มีอะไรก็ช่วยเหลือกันตลอด เนื่องจากบางมด
ค่อนข้างเปิดโอกาส และไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรที่จำกัดมากมาย เราจึงรู้สึกมีพื้นที่อิสระทางความคิด และทำให้เราได้รู้จักกับเพื่อนๆ ที่อยู่นอกภาควิชาครับ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก มจธ. ไปปรับใช้กับการทำงานอย่างไร

ผมว่าบางมดของเรา สอนผมมาตั้งแต่ปริญญาตรี คือเราต้องลงไปทำงานจริง (ไม่ใช่แค่ยืนสั่ง) เพื่อให้เข้าใจรายละเอียดงานทุกอย่างด้วยตัวเองให้ได้ และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก นอกจากนี้เมื่อเรามีศักยภาพมากพอ เราต้องไปช่วยเหลือคนอื่นที่เขายังต้องการความช่วยเหลือจากเรา

งานด้านไหนที่คิดว่านำไปช่วยเหลือสังคมได้

งานวิจัยของผมเน้นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสมัยเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก ผมเน้นไปที่การทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น และก็ทำมาเรื่อยๆ จนจบปริญญาเอก ผมเก็บ
ข้อมูลฝุ่น PM2.5 มาตั้งแต่ปี 2545 ต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี ตอนที่มาทำงานวิจัยที่ AIT ค่าที่ตรวจวัดได้ก็สูงมาตลอดแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 ก็คือ รถยนต์ และการเผาในที่โล่งโดยรอบพื้นที่ กทม. หากพูดถึงประเด็นนี้เมื่อ 17 – 18 ปีที่แล้วไม่มีใครสนใจ PM2.5 เลย แต่พอมีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง PM2.5 คนก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ทำให้เราค้นพบตัวเองว่า สิ่งที่เราทำในอดีตนั้น เป็นการสั่งสมประสบการณ์ ที่ทำให้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ ตลอดจนการแก้ปัญหาเรื่องโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นต้น ปัจจุบันผมเริ่มมีทีมงานและได้ร่วมทำงานในระดับนิคมอุตสาหกรรม ระดับชุมชนขนาดใหญ่ และมีส่วนในการผลักดันนโยบายต่างๆ ของประเทศอีกด้วย ดังนั้นงานวิจัยของผมจึงไม่ได้เป็นแค่เพียงทำวิจัย แต่ผมทำเพื่อหา Best solution ให้ได้

สำหรับน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่หรือกำลังจะเรียนจบนี้ต้องบอกว่า กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยกับการทำงานจริงแตกต่างกันค่อนข้างมาก เราเองต้องมีความพร้อมที่จะไปเผชิญกับอนาคตที่บางครั้งอาจจะโหดร้าย หรือยุ่งยาก อาจจะมีความรู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ แต่การทำงานจริงนั้นไม่ได้ยากขนาดที่เราต้องยอมแพ้ เราอาจได้พบเส้นทางหนึ่งที่เป็นของเราก็ได้ ดังนั้นเราจึงต้องพร้อมในการทำงาน แม้เราอาจจะไม่ได้งานที่ชอบ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ต้องมีบางเปอร์เซ็นต์ที่เรารักในงานนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่ยอมแพ้ จนถึงที่สุด เพราะมีกำไรในงานทุกอย่าง แล้วเราจะได้รับรางวัลสำหรับชีวิตเราอย่างแน่นอน

ผศ. ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล
นักศึกษาเก่า ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ (รุ่นที่ 4)
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์