ถ้าคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ เมื่อนั้นเราจะหยุดพัฒนา จงลงมือทำ และเดินหน้าต่อไป ….. คุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์

แนะนำตัวรุ่นพี่

สวัสดีครับผม “บอย – พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์” นะครับ จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (SoA+D) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปัจจุบันเป็นเจ้าของสตูดิโอ Anonym ทำงานเกี่ยวกับงานออกแบบ แต่ว่าหลัก ๆ ก็จะเป็นงานออกแบบบ้านพักอาศัยส่วนตัว โดยมุ่งเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ และความสมดุลระหว่างคน ที่ว่าง ธรรมชาติ และบริบทต่างๆ ก่อให้เกิดงานสถาปัตยกรรมที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะ และสอดผสานเป็นหนึ่งกับชีวิตผู้อยู่อาศัยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในความเรียบง่ายตามแบบฉบับของ Anonym ครับ

ความทรงจำสมัยเรียนที่บางมด

จริงๆ ก็เรียนจบมาประมาณเกือบ 19 ปีแล้วครับ ถ้าย้อนกลับไปก็ค่อนข้างนาน แต่จริงๆ ผมคิดว่าความทรงจำในสมัยนั้นที่ชัดเจนมาก ๆ น่าจะเป็นเรื่องของการที่เรามีเพื่อน หรืออาจารย์ที่เราได้ทำงานร่วมกัน เพราะคณะเราก็ถือเป็นคณะที่ทำงานหนัก เราจะใช้เวลา หรือว่ามีเวลาที่อยู่กับเพื่อนทุกช่วงเวลาตั้งแต่เช้ากลางวันไปถึงกลางคืน ดังนั้น เราจะค่อนข้างสนิทกัน แล้วแต่ละคนก็จะมีวิธีการทำงานต่างกัน บางคนก็ทำงานช่วงกลางวัน บางคนก็ทำงานช่วงกลางคืน แต่ว่าในโมเม้นที่ผมคิดว่าค่อนข้างประทับใจน่าจะเป็นเรื่องของการที่เราได้ทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่เราเหนื่อย แล้วก็อาจารย์ที่คณะก็ค่อนข้างที่จะเปิดให้นักศึกษาทุกคนได้มีโอกาสนำเสนอแนวความคิด เพราะว่างานออกแบบเป็นงานที่ค่อนข้างต้องใช้เวลา แล้วก็ใช้ไอเดียที่ต้องการนำเสนอ แล้วก็อาจารย์ทุก ๆ ท่านก็ยินดีที่จะซัปพอร์ตนักศึกษาทุกคน ถือว่าโชคดีที่ได้เรียนที่ มจธ.

คิดว่าอัตลักษณ์ของเด็กบางมดคืออะไร

จริง ๆ ผมมีโอกาสได้ไปสอนตามคณะสถาปัตย์ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย พอผมมีโอกาสเปิดสตูดิโอ แล้วก็ได้รับน้อง ๆ จากหลายคณะ หลายมหาวิทยาลัยเข้ามา ผมคิดว่าในภาควิชาที่เราเรียน หนึ่งคือโชคดีตรงที่ว่าเป็นภาควิชาที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ อาจารย์ที่มาสอนก็เป็นอาจารย์ที่ค่อนข้างมีความหลากหลาย ก็จะมีเฉพาะทางด้วย ฉะนั้น ผมคิดว่าทำให้เราได้ความรู้ที่มาจากหลายทิศทาง แล้วอาจารย์ของเราก็จะมีวิธีการสอนในรูปแบบที่ตนเองได้จบมหาวิทยาลัยในแต่ละที่กลับมา เราเลยค่อนข้างได้เปิดกว้างเรื่องความรู้ แล้วก็ได้ข้อมูลต่าง ๆ  ที่ค่อนข้างหลากหลาย อันนี้คือสิ่งแรกที่ผมรู้สึก

เรื่องที่สองคือ ด้วยความที่มีข้อดีและข้อเสีย ในเชิงของการที่บางมดในยุคที่ผมเรียน คณะที่เพิ่งเปิดมาไม่กี่รุ่นประมาณ 5 – 6 รุ่น วัฒนธรรมจึงยังไม่ชัดมาก มันจะไม่ได้เป็นกรอบที่เป็นรูปแบบเฉพาะทาง ตั้งแต่ผมจบมาแล้วก็รุ่นน้องที่เราได้ตามผลงานต่าง ๆ เรารู้สึกว่ามีความ Independent มาก แล้วก็ค่อนข้างที่จะมีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจนมาก ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อดีในกระบวนการที่บางคนอาจจะมองว่ามันไม่ได้มีข้อดี แต่ว่าเรากลับมองว่ามันดีมากสำหรับในงานออกแบบ

ผมเป็นรุ่นแรกที่ได้ไปเรียนที่บางขุนเทียน ก็เรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิก ตอนที่เรียนที่บางขุนเทียน มันก็มีข้อดีก็คือว่า พอมันอยู่ในคณะที่ค่อนข้างจะเข้าออกลำบาก มันก็ไปไหนไม่ได้เลย ฉะนั้นมันก็จะมีเวลาใช้ชีวิตอยู่ในช่วงกลางวัน – กลางคืนในคณะ แล้วพอออกไปไหนไม่ได้ มันก็จะมีเวลาว่างในช่วงการทำงาน หรือว่าช่วงเวลาที่เราได้คุยกับอาจารย์ หรือว่าเพื่อน ๆ แต่ว่าปัจจุบันตอนนี้ถือว่าเจริญมากก็เข้าออกได้ค่อนข้างสะดวก แล้วบรรยากาศก็ดีมากเลยจริง ๆ ครับ

เล่าเรื่องการทำงาน และสิ่งที่ได้เรียนรู้

ตอนที่เรียนที่คณะตอนนั้นก็อยู่ช่วงปี 4 แล้วก็กำลังจะต้องหาสถานที่ฝึกงาน ตอนนั้นก็มีความตั้งใจที่อยากไปฝึกงานต่างประเทศ ก็หาสตูดิโอต่าง ๆ ตามแมกกาซีนสถาปัตยกรรมดีไซน์ แล้วเราไปเจอสตูดิโอหนึ่งที่เราอยากไปฝึกงานมากคือ บริษัทที่สิงคโปร์ เป็นบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับ Tropical Design ซึ่งตอนนั้นเราค่อนข้างสนใจเรื่องงาน Tropical ก็เลยได้รับการตอบรับแล้วก็ได้ไปฝึกงานที่นั่นประมาณ 4 เดือน จนผมก็ได้มีโอกาสรู้จักพี่คนหนึ่ง จึงถูกชวนไปอยู่บริษัทฝรั่งที่หนึ่งที่มีเจ้านายอยู่ที่นิวยอร์ก ได้ทำงานอยู่ประมาณเกือบสิบปี แต่ว่าเบสอยู่ที่เมืองไทย ดังนั้น การทำงานผมก็จะค่อนข้างได้หลายวัฒนธรรมมากเลย ซึ่งมันก็ถือว่าได้เรียนรู้ค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้นผมทำงานได้ประมาณ 12 – 13 ปี เริ่มเรียกตัวเองว่าเป็นสถาปนิกได้เต็มตัวแล้ว เพราะว่าสถาปนิกจะค่อนข้างใช้ความรู้ในเรื่องของกฎหมายอยู่มาก ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงต้องเรียน 5 ปี  หลังจากนั้นตัดสินใจเปิดสตูดิโอตัวเองได้ประมาณ 6 ปีที่แล้ว แล้วก็เลือกที่จะทำงานบ้านพักอาศัยส่วนตัว เพราะว่าพอเราได้เรียนรู้ทุก ๆ สเกล ก็เลยค่อนข้างจะรู้สึกว่าการทำงานบ้านพักอาศัยมันค่อนข้าง Touch กับผู้คน

เคล็ดลับในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ    

ตัวผมเองไม่ได้เรียกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ ผมจะห้ามให้ตัวเองคิดว่าประสบความสำเร็จ เพราะว่าถ้าเราคิดว่าเราประสบความสำเร็จ เมื่อนั้นเราจะหยุดพัฒนา อันนี้คือสิ่งแรกที่เราพยายามเตือนตัวเองตลอด แต่ว่าผมคิดว่า ผมเป็นสายลงมือทำ ก็คือเหมือนกับเราทำงาน เราก็รู้สึกว่าการฝึกฝนเยอะ ๆ จะทำให้เราได้เรียนรู้เยอะขึ้น แล้วประสบการณ์ในการทำงานมันก็หล่อหลอมเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประชุม เรื่องของการเจรจาคุย เพราะจริง ๆ แล้วสถาปนิกไม่ได้เป็นเรื่องออกแบบอย่างเดียว เป็นเรื่องการที่เราต้องทำงานร่วมกับทางวิศวกร หรือแม้กระทั่งเจ้าของบ้าน และทีมต่าง ๆ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการที่เราต้องใช้จิตวิทยาด้วยในวงการนี้

ฝากข้อความจาก “รุ่นพี่” ถึง “รุ่นน้อง”   

ตอนเรียนก็ผมคิดว่าผมเต็มที่กับชีวิตในวัยเรียนเป็นนักศึกษา เอ็นจอยกับกับชีวิตในสถานะตอนเราเป็นนักศึกษา แล้วก็เรียนรู้ในการอยู่กับเพื่อน เรียนรู้และรับมือในการคุยกับอาจารย์ สื่อสารกับอาจารย์ให้ได้ จริง ๆ ถ้ามีเวลาทำกิจกรรมด้วยก็จะดีมาก เพราะว่าการทำกิจกรรมทำให้เราได้ทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต่่อการทำงานในอนาคต เพราะตอนทำงานเราอาจเจอวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่เราต้องปรับตัว ผมว่าการปรับตัวสำคัญมาก ส่วนการเรื่องเรียนต่อ หรือการทำงานในเมืองไทย ในเมืองนอก อันนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของ Mindset ของแต่ละคน บางคนก็อยากจะศึกษาการทำงานในเมืองไทยก่อน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดี ถ้าคุณวางแผนอนาคตว่าคุณจะกลับมาทำงานในเมืองไทย แต่ถ้าคุณมีโอกาส หรือคุณผลักดันตัวเองได้ไปอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดีมาก เพราะว่ามันจะเปิดโลกทำให้เราเข้าใจว่าสถานการณ์ข้างนอกเป็นอย่างไร ก็อยากจะแนะนำให้รู้ก่อนว่าชอบอะไรด้วย อยากให้ทุกคนได้เจอทางที่ชอบ และได้ทำสิ่งนั้นอย่างมีความสุข

ถ้าคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ เมื่อนั้นเราจะหยุดพัฒนา จงลงมือทำ และเดินหน้าต่อไป

คุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์
นักศึกษาเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (SoA+D)
เจ้าของสตูดิโอ บริษัท แอนโนนีม จำกัด Co-founder and Design Director of ANONYM