ภาษาอังกฤษเยี่ยมยุทธ์ ติดอาวุธนักเดินเรือไทย (Internationalization of Thai Marine Logistics)

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่อยู่ในวงการการเดินเรือ 3 ท่านคือ

  1. คุณสุรชัย บุรพานนทชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคลากร ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า
  2. ว่าที่เรือตรีพิษณุ สีตะปัน หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการใต้น้ำ กรมเจ้าท่า, นายช่างกลชำนาญการ คณะทำงาน APEC SEN
  3. กัปตันพงษทร คงลือชา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายคนประจำเรือ บริษัท โทรีเซน (กรุงเทพ) จำกัด

มาร่วมสนทนาเปิดมุมมองความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับภาษาอังกฤษของอุตสาหกรรมพาณิชยนาวี ในกิจกรรม KMUTTWORKS Webinar ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ภาษาอังกฤษเยี่ยมยุทธ์ ติดอาวุธนักเดินเรือไทย (Internationalization of Thai Marine Logistics)”

อุตสาหกรรมพาณิชยนาวีและสถานการณ์ปัจจุบัน

กัปตันพงษทร คงลือชา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายคนประจำเรือ บริษัท โทรีเซน (กรุงเทพ) จำกัด

ได้เล่าถึง กลุ่มอุตสาหกรรมพาณิชยนาวี คือระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ ทางทะเล เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ได้สูงเนื่องจาก ขนส่งสินค้าได้ปริมาณมาก ต้นทุนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับระบบการขนส่งชนิดอื่น ทำให้ในโลกการค้า-การพาณิชย์มีการใช้โลจิสติกส์ทางทะเลมากที่สุดในการนำเข้า-ส่งออก ปัจจุบันในอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีมีเรือขนส่งสินค้ามีทั้งในและต่างประเทศประมาณ 75000 ลำ และคนประจำเรือประมาณ 1.9 ล้านคน ในประเทศไทยมีเรือขนาดเรือ 500 ตันกรอส ประมาณ 500 ลำ และคนประจำเรือไทย 35000 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับระดับโลก แต่อย่างไรก็ตาม บุคลลากรด้านพาณิชยนาวียังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในทั้งประเทศไทยและในระดับโลก

โอกาสในชีวิตกับการเป็นนักเดินเรือ

อาชีพนี้สามารถสร้างรายได้ได้อย่างรวดเร็ว การเดินเรือเรายังได้เดินเรือไปต่างประเทศ เมื่อเดินเรือไปตามท่าเรือต่างๆ คนประจำเรือมีสิทธิ์ที่จะขึ้นไปบนฝั่ง ขึ้นไปท่องเที่ยวได้ในเวลาที่จำกัด ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็น Benefit ที่มีคุณค่ามากกว่าเงิน และมันคือประสบการณ์ และยังได้เดินทางรอบโลก ในหลายๆรอบเลยด้วยซ้ำ และสิ่งนี้คือ Benefit และยังเป็นประโยชน์สำหรับนักเดินเรือไทย

ภาษาอังกฤษสำหรับนักเดินเรือไทย

ว่าที่เรือตรีพิษณุ สีตะปัน หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการใต้น้ำ กรมเจ้าท่า, นายช่างกลชำนาญการ คณะทำงาน APEC SEN ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษาอังกฤษสำหรับนักเดินเรือ (Maritime English) เป็นไกด์ไลน์คำศัพท์องค์กรทางทะเล ก็เป็นเรื่องของ General English การสื่อสารในชีวิตประจำวันทั่วไป อีกส่วนหนึ่งคือในเรื่องของการใช้งานจริงของทางฝ่ายปากเรือเกี่ยวกับ SMCP การสื่อสารทางด้านเฉพาะทางในการเดินเรือ และทางฝ่ายช่างกลเรือจะเน้นคำศัพท์ภาษาอังกฤษทางเครื่องยนต์โดยเฉพาะ

ขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีไทยบุคลากรด้านพาณิชยนาวีไทยมีทักษะทางวิชาชีพ (Hard skills) ที่ดีมาก สามารถทำงานตามหน้าที่ของตนได้อย่างดี เป็นที่ต้องการในตลาดโลก แต่ทักษะในการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาอังกฤษยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้บุคลากรไทยเสียโอกาสในการก้าวหน้าทางวิชาชีพ

คุณสุรชัย บุรพานนทชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคลากร ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า กล่าวว่ากรมเจ้าท่าเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ จึงมีการกำหนดเกณฑ์โดยใช้ข้อสอบ TOEIC ในการวัดผลของบุคลากรด้านพาณิชยนาวี เพื่อให้บุคลากรด้านพาณิชยนาวีมีการตื่นตัวด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งเกณฑ์คะแนนของแต่ละระดับชั้นของบุคลากรก็แตกต่างออกไป ซึ่งสามารถใช้ในการเลื่อนระดับด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ทำอย่างไรให้ works ?

การพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับนักเดินเรือไทย จะต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดหลักสูตรภาษาอังกฤษและปูพื้นฐานตั้งแต่โรงเรียนที่เป็นต้นน้ำผลิตนักเดินเรือ และต้องได้รับการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่นักเดินเรือไทยจะสู่สากลและแข่งขันกับอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีกับต่างชาติก็จะมีโอกาสมากยิ่งขึ้น