ทำความรู้จัก “เน สิงหดิศร์ จันทรักษ์” CEO หนุ่มไฟแรงจาก iCube ศิษย์เก่า INC

เตรียมพร้อมเข้าสู่ Digital Transformation รับฟังมุมมอง และแนวคิดของคนรุ่นใหม่สาย Tech ในบทสัมภาษณ์ ของ“คุณสิงหดิศร์ จันทรักษ์” นักศึกษาเก่า มจธ. ผู้ก่อตั้งบริษัท ไอคิวบ์ จำกัด กับบริการแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม (Plant Information Management System, PIMS) กับไอเดียแพลตฟอร์มสุดเจ๋งที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาการจัดการโรงงาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

แนะนำตัวรุ่นพี่

คุณสิงหดิศร์ จันทรักษ์ หรือเน

จบการศึกษาจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด รุ่น INC22 

ปัจจุบันเป็น CEO and Co-Founder บริษัท Startup ทางด้าน Manufacturing Tech ในชื่อ iCube Co., Ltd.

เล่าชีวิตในช่วงที่ได้เรียนอยู่ที่บางมด

ช่วงเรียนที่บางมด ได้รับโอกาสค่อนข้างเยอะจากอาจารย์ที่ทำงานกับภาคอุตสาหกรรม

ได้โอกาสในการทำงานตั้งแต่อยู่ ปี 3 หลายโปรเจกต์ ทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำงานจริง

และเข้าใจความต้องการภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก มากไปกว่านั้นทำให้เราเห็นโอกาสบางอย่าง 

ที่เราสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

“ MIND SET ”

เป็นสิ่งที่ทำให้เรานั้นแตกต่างและได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น ๆ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก มจธ. สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานอย่างไรบ้าง

ความรู้ที่ได้รับจาก มจธ. ขอแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ 

ในส่วนแรก ความรู้ในห้องเรียน ในส่วนนี้ได้ใช้งานค่อนข้างมาก เนื่องจากงานปัจจุบันที่ทำอยู่

เหมือนเอาความรู้ทั้งหมดของภาคมาประยุกต์ใช้งานได้เกือบทั้งหมด 

และในส่วนที่สอง ความรู้นอกห้องเรียน ได้รับโอกาสจากอาจารย์ในการได้เข้าไปช่วยและทำงานกับ

ภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ ส่วนนี้สำคัญมากๆเป็นส่วนที่ทำให้เราเห็นโอกาสในการต่อยอด

ในการทำงานเยอะขึ้นมาก

ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ 

ที่เราได้เข้าไปศึกษาและค้นหาตัวเอง ว่าสิ่งนี้เราชอบไหม ถึงแม้ในสิ่งที่เราทำนั้น จะเป็นสิ่งที่ไม่ถนัด ”

ความสนใจในการอยากทำธุรกิจ Start up

จากที่เล่าไปว่าได้ทำงานกับภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ทำให้เราเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ

ทางด้านนี้ และมองเห็นปัญหาภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมประเทศ โดย ณ ตอนนั้น คนที่ทำ Start up

ทางด้าน Manufacturing Tech น้อยมากๆ รวมถึงสิ่งที่เราคิดพัฒนาเป็นส่วนที่เราเชื่อมว่าจะมาช่วยยกระดับ

อุตสาหกรรม การผลิตของประเทศให้ดีขึ้นได้ ด้วยการใช้งานข้อมูลในการขับเคลื่อนกระบวนการผลิต

“ ประสบการณ์ในช่วงที่เรียนอยู่ที่บางมด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำโปรเจกต์ต่าง ๆ

 ทุกอย่างได้นำมาใช้ในชีวิตการทำงานจริงทั้งหมด 

เปรียบเหมือนส่วนต่าง ๆ แต่ละส่วน ที่มาประกอบรวมกัน

ในช่วงของชีวิตการทำงานจริง ”

จุดเริ่มต้นของบริษัท ไอคิวบ์ จำกัด

จุดเริ่มต้นของ ไอคิวบ์ เริ่มจากการรวมตัวคนใน Lab ของ มจธ. Process Automation Laboratory

ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ จริงๆ ในส่วนแรกเราพยายามคิดคอนเซ็ปต์ที่เราอยากทำ และลองให้โรงงานจริงๆ

รีวิว โดยขั้นตอนนี้เราใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเลยกว่าจะได้เป็นแพลตฟอร์มว่าเราจะทำอะไร

ที่ตอบโจทย์โรงงานจริงๆ โดยบริษัทไอคิวบ์เราทำแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลสำหรับ

โรงงานอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาลดการทำงานซ้ำซ้อนของพนักงาน ในแง่ของการกรอกข้อมูล,

การจัดการข้อมูล และการแสดงผลข้อมูลให้เป็นเรื่องง่าย ทำให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้รอยต่อ 

(Data Automation) 

โอกาสดี ๆ กับการเป็น Speaker ให้กับ Microsoft

จริงๆ ก่อนจะเป็น Speaker ให้กับทาง Microsoft งานทางด้าน Digital Manufacturing ทาง Microsoft

เคยไปเจอเราในงานแข่งขัน Microsoft Azure มาก่อน ก็มีโอกาสได้นำเสนอ product ที่เราทำ

ทำให้เราเห็น Potential ในการต่อยอดธุรกิจทางด้าน Manufacturing กับทาง Microsoft 

หลังจากงานเราได้ดำเนินการเป็น Partner กับทาง Microsoft ต่อ และมีโปรเจกต์ที่เราทำร่วมกันหลายๆ 

โปรเจกต์กับภาคอุตสาหกรรม (ลูกค้าของ Microsoft) ทำให้เราเชื่อมั่นในเราระดับหนึ่ง

ที่เป็นบริษัทเล็กแต่มีคุณภาพในการทำงานไม่แพ้บริษัทใหญ่ เป็นที่มาที่ทำให้ทางบริษัท ไอคิวบ์ 

ได้รับเชิญเป็น Speaker ในงานของ Microsoft และงานอื่นๆ ในอนาคต

เป้าหมายธุรกิจในอนาคต

เป้าหมายหลักด้านธุรกิจของบริษัท คือการนำพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้

และต้องมีการโตอย่างยั่งยืนและเป้าหมายทางด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม

เราอยากเห็นแพลตฟอร์มของไทย ที่พัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของประเทศอื่น ๆ

โดยเราเน้นเรื่องคุณภาพและการบริการเป็นหลัก

“ เติบโตแบบ Start up แต่ยั่งยืนแบบ SMEs ”

การส่งเสริมหรือสนับสนุนในการทำธุรกิจหลังจากที่เรียนจบจาก มจธ.

การเรียนที่ มจธ. สำหรับผมมีส่วนมากเนื่องจาก แทบจะบอกได้เต็มปากเลยว่ามีบริษัทไอคิวบ์ได้

ก็เพราะความรู้และโอกาสที่ได้รับจากทางมหาวิทยาลัยและประสบการณ์ที่ได้สำหรับร่วมกับ

ภาคอุตสหากรรมในขณะที่ยังเรียนอยู่ ทุกอย่างนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมด

ตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัทจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนทางอ้อมจากด้าน Incubator ต่างๆ

ในการทำธุรกิจจากทาง KX และ Tech Bite เครือข่ายของ มจธ.

มุมมองเกี่ยวกับ Start up ที่ดี

Start up ที่ดี คุณสมบัติที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือทีมที่พร้อมลุยไปด้วยกัน อดทน / เรียนรู้ /ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

และอยากให้คิดว่าการเป็น Start up ไม่จำเป็นต้องโตเร็วมาก แต่อยากให้คิดไปคู่กับการโตที่ยั่งยืน

โตให้เหมือน Start up มั่นคงให้เหมือน SME

“ ทีมที่ดี  คือ เคล็ดลับในการทำธุรกิจ START UP ”

“ ทีมที่ดี จะทำให้ธุรกิจไปได้ ”

อยากฝากถึงน้อง ๆ นักศึกษาหรือใคร ๆ ที่สนใจในเรื่อง ของ Start up อยู่

ฝากถึงน้อง ๆ นักศึกษาที่สนใจ Startup หากคุณมีไอเดียและมีทีมที่คุณคิดว่าพร้อมลุยไปด้วยกัน

ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร พร้อมที่จะแก้ไขและปรับปรุงตัวตลอดเวลา ผมว่าทุกคนสามารถมาลองได้ 

ยิ่งยังเรียนไม่จบนี้ยิ่งดี เราจะล้มกี่ครั้งก็ได้