เป็นเด็กกิจกรรม แล้วแบ่งเวลายังไง – ฉบับประธานสภานักศึกษา

บทความโดยอ้างอิงการสัมภาษณ์ “รชนนท์ ปัญญาพี่” ประธานสภานักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567

เคยสงสัยไหมว่าคนที่ทำกิจกรรมเยอะ ๆ เค้าแบ่งเวลายังไง ทั้งเรียนก็ต้องดี กิจกรรมก็ต้องเป๊ะ ยิ่งถ้าเป็นระดับ “ประธานสภานักศึกษา” คงมีภาระรับผิดชอบล้นมือแน่ ๆ เพื่อหาคำตอบ เราเลยไปขอเคล็ดลับจาก “รชนนท์ ปัญญาพี่” ประธานสภานักศึกษาตัวจริงเสียงจริง ที่จะมาเล่าให้ฟังว่าเขา “เอาอยู่” ได้ยังไง ทั้งการเรียน การทำงาน รวมไปถึงเวลาพักผ่อนแบบไม่ปล่อยให้ร่างพัง!

การแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและกิจกรรม

รชนนท์อธิบายว่า สิ่งที่ต้องตระหนักเป็นอันดับแรก คือบทบาทหลักในฐานะ “นักศึกษา” ที่หน้าที่หลักคือการเรียน แต่ในขณะเดียวกันเขาต้องรับผิดชอบในฐานะ “ประธานสภานักศึกษา” อีกด้วย เขากล่าวว่า

“เราเป็น ‘นักศึกษา’ ชัดเจนด้วยตัวมันเองแล้วว่า หน้าที่หลักของเราคือการเรียน … อีกบทบาทหนึ่งเรายังเป็น ‘ประธานสภานักศึกษา’ … ฉะนั้นผมจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองบทบาท”

เขาใช้วิธี ทำ to-do list รายวัน จัดลำดับความสำคัญของงานที่จะทำก่อน-หลังอย่างเคร่งครัด งานไหนเร่งด่วนก็จะรีบทำให้เสร็จทันที ส่วนงานที่ไม่เร่งด่วนจะค่อย ๆ วางแผนกระจายช่วงเวลาหรือมอบหมายให้คนอื่นช่วย ถ้าเรารู้ว่าใครถนัดและว่างทำก็ขอแรงกันไป

งานและเรียนหนักไหม? ได้พักผ่อนเพียงพอหรือเปล่า?

เมื่อถูกถามถึงความเหนื่อยและเวลาพักผ่อน รชนนท์ยอมรับว่า ช่วงสอบนี่คือช่วงวิกฤต เพราะต้องอ่านหนังสืออย่างหนัก ในขณะที่งานสภานักศึกษาก็ยังต้องเดินหน้าไปด้วย เขาพยายามจะ

“รักษาเวลานอนให้ได้อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง … แต่ก็ต้องออกตัวก่อนว่าบางช่วงเวลาพักก็หายไปบ้าง … แต่เราก็ยังสามารถหาช่องทำงานอดิเรกได้อยู่บางครั้ง”

ปัญหาในการจัดการเวลา และการแก้ไข

เขาบอกว่าการมีปัญหาเรื่องการบริหารเวลาเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับคนที่ทำงานหลายด้าน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ยอมรับ ว่าตอนนี้เรา “บริหารเวลาไม่ดี” แล้วรีบแก้ทันที โดยทบทวนดูว่าปัญหานี้เริ่มจากตรงไหน และจะป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอย่างไร ที่สำคัญต้อง

“รู้จักประมาณตน เรียนรู้ที่จะปฏิเสธงานเพิ่มเติมเมื่อตารางชีวิตเต็มแล้ว”

การทำกิจกรรมมีผลต่อการเรียนไหม?

“ถ้าบอกว่าไม่มีผล แน่นอนว่าโกหก” — รชนนท์กล่าวอย่างตรงไปตรงมา พร้อมย้ำว่าการทำกิจกรรมย่อมกระทบการเรียน และในทางกลับกัน การเรียนก็อาจกระทบกิจกรรมได้ ถ้าไม่รู้จักวางแผน

แต่เราต้องถามตัวเองด้วยว่า การเรียนมีผลกระทบต่อกิจกรรมมั้ย? (ฮา)

“ถ้าจัดสรรเวลาไม่ดี ผลลัพธ์จะออกมาชัดเจน ผ่านความชะงักงันของการจัดกิจกรรม และคะแนนจากการสอบ”

คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเป็นส่วนนึงของสภาหรือองค์การนักศึกษา

“กระโดดลงมาทำเลย” คือคำแนะนำของรชนนท์ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาสั้นกว่ามัธยมมาก ไม่มีใครว่ายน้ำเป็นถ้าไม่ยอมลงน้ำ

“ไม่มีใครจัดการเวลาได้ดีเท่าคนที่ยุ่งที่สุดอยู่แล้ว จริงมั้ยครับ?”

ทักษะที่ได้จากการเป็นนักกิจกรรม

รชนนท์บอกว่าตอนแรกที่เข้ามาเพราะอยากได้การยอมรับจากคนรอบข้าง แต่กลับพบว่าได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมาก ทั้งการรู้จัก “ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้” เพื่อไปขวนขวายความรู้จากผู้ที่รู้จริง และ “ทักษะการฟังอย่างไม่ตัดสิน” ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับการตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น

รู้สึกคิดถูกหรือผิดที่เลือกเป็นนักกิจกรรม?

รชนนท์ยืนยันว่าคิดถูก เพราะถึงจะเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่า ได้ใช้โอกาสที่มีอยู่ผลักดันสิทธิ์และสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับเพื่อนนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาโครงการกว่า 150 โครงการ การเรียกร้องสิทธิ์ที่นักศึกษาควรได้ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบในมหาวิทยาลัย

“ถ้าได้ย้อนเวลากลับไปก็ยังอยากเป็นนักกิจกรรมเหมือนเดิมอีกครั้งครับ”

เรื่องราวของ “พี่รชนนท์” แสดงให้เห็นว่าการเป็นนักกิจกรรมนั้นไม่ได้ง่าย แต่ถ้าเราใส่ใจเรื่องการบริหารเวลา รวมถึงกล้าเรียนรู้จากงานจริง ๆ เราจะได้ทั้งประสบการณ์ ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง และได้ฝึกทักษะสารพัดที่จะมีประโยชน์ต่อชีวิตในอนาคต ไม่มีใครรู้ว่าจะเก่งได้แค่ไหน ถ้าไม่ลองลุยของจริง! “ไม่มีใครว่ายน้ำเป็นถ้าไม่ลงมาในน้ำ” – พี่กาย รชนนท์, ประธานสภานักศึกษา

ถ้าอยากทำแต่ยังลังเลอยู่ มาลองกระโดดลงน้ำมาดูก่อน แล้วคุณจะพบว่าเวลาชีวิตอาจเหนื่อยขึ้นสักนิด แต่ประสบการณ์และมิตรภาพที่ได้มาคุ้มเกินคาดจริง ๆ!