ทีมงาน More Stories ได้มีโอกาสติดตามน้องๆ นักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ “สร้างศักภาพการจัดการเรียนรู้ระบบการศึกษาวิชาชีพเพื่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยใช้ห่วงโซ่การศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่โครงการพัฒนาที่ มจธ. รับผิดชอบเป็นฐานการดำเนินการ” เพื่อใช้เวลาเกือบหนึ่งปีอาสาเดินทางไปเป็นครูฝึกสอน ในพื้นที่ อ.ปัว จ.น่าน ที่พวกเขาต้องละทิ้งความสะดวกสบายในชีวิตที่คุ้นเคย จากบ้านและพื้นที่ Safe zone เพื่อมาเรียนรู้พื้นที่ใหม่ในชีวิตที่เขาอาจไม่เคยได้รู้จักมันมาก่อน ประสบการณ์และการเรียนรู้ของพวกเขา ได้รับการบอกเล่าผ่านการพูดคุยกับพวกเราอย่างเปิดใจ เราอยากใช้พื้นที่ KMUTT Voice เพื่อถ่ายทอดบางช่วงบางตอน ที่จะเป็นการส่งเสียงจากกลุ่มคนที่ได้รับประสบการณ์ตรงและรับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ จากใจครูฝึกสอนที่จะสะท้อนภาพการศึกษาพื้นที่ชายขอบของประเทศไทย ที่จะทำให้ได้รับรู้ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูของพวกเขา และเป็นความหวังถึงพลังแห่งการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
ภัณฑิรา ปรางอยู่ (นาเดีย)
ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
การมาฝึกสอนแน่นอนว่าต้องได้ประสบการณ์วิชาชีพครู นอกเหนือจากนั้นก็คือการเข้าไปอยู่ในสังคมการทำงาน สังคมครูจริงๆ มีเหตุการณ์นึงที่หนูจำได้แม่นเลย วันนั้นหนูไปดูเด็กที่หอพัก เขากวาดพื้นอยู่ ก็คุยเล่นกัน เด็กมาปรึกษาหนูเรื่องใช้ชีวิต เรื่องความเป็นอยู่ เราคุยกันว่าจบแล้วจะไปทำอะไรต่อ เด็กก็บอกว่าคงไปทำงาน จะได้มีเงิน แล้วเขาก็ถามหนูว่า อยากเรียนมหาลัยต้องใช้เงินเท่าไหร่เหรอครู หนูแค่บอกค่าเทอมว่าประมาณสองหมื่นกว่า เด็กก็รู้สึกว่ามันจบไปเลย เขาบอกว่า ‘ครูคะ มันเยอะจังเลย หนูคงไม่ได้เรียนต่อแล้ว’ มันทำให้หนูตระหนักเลยว่าโอกาสทางการศึกษาของเด็กมีไม่เท่ากัน แล้วความเหลื่อมล้ำมันก็มีทุกพื้นที่ เราจะทำอย่างไรให้เขายังมีหวังในการที่จะได้เรียนต่อ เจอสถานการณ์แบบนี้ เจอเด็กแบบนี้ อีกหลายๆ คน หนูก็จะช่วยเท่าที่หนูช่วยได้ เราอาจจะเปลี่ยนระบบใหญ่ๆ ไม่ได้ เปลี่ยนโครงสร้างไม่ได้ จุดเริ่มต้นมันก็คือคนที่เป็นครู คือตัวเราเองนี่แหละ อีกเหตุการณ์นึง มีเด็กเดินมาหาหนูแล้วน้ำตาซึมๆ แล้วบอกหนูว่า ครูรู้ไหม ไม่เคยมีใครสนใจหนูเท่าครูเลย ครูเป็นคนแรกที่ทำให้หนูรู้สึกว่าครูสนใจหนู มันทำให้หนูรู้สึกภูมิใจมาก และสะท้อนว่าสิ่งที่เราให้เขา แม้จะเล็กน้อย เช่น ความรู้ ความคิด หรือคำปรึกษา ก็อาจเป็นสิ่งที่เขาขาดและต้องการอยู่ก็เป็นได้ ความเป็นครูสำหรับหนู คือการให้มั้งคะ มีใจที่จะให้เด็ก แค่เด็กคนเดียวก็ได้ ที่เรามีใจคิดอยากจะให้ สำหรับใครที่มีความพร้อมทั้งเรื่องเงินทอง ก็อยากจะเชิญชวนสนับสนุนเพื่อการศึกษาฯ ให้กับเด็กที่เขาขาดโอกาสทางการศึกษา ให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้เขาได้เรียน เขาอาจจะมีอนาคตที่ดี ยกระดับชีวิตเขาขึ้นไปอีกขั้นนึง เพื่อพัฒนาประเทศของเราต่อไป
อทิตยา พุ่มสาลี (ออม)
ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
การเปลี่ยนมาเป็นบทบาทครู ทำให้หนูต้องรับผิดชอบมากขึ้น เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กนักเรียน โจทย์สำคัญคือหนูจะทำอย่างไรให้เขาได้รับสิ่งที่หนูพยายามจะสื่อสารไปให้ดีที่สุด เท่าที่หนูอยู่ที่นี่ สิ่งที่หนูเจอและได้สัมผัสมา หนูอยากให้ทุกคนรู้ว่าการศึกษามันสำคัญมาก ถ้าเราได้เปิดโอกาสหรือได้ลองเรียน ถ้าจบไปทางเลือกในชีวิตมันเปิดกว้างอีกเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าพูดถึงปัญหาที่หนูสัมผัสได้ หนูว่าเขาไม่ได้เห็นว่าการศึกษามันสำคัญขนาดนั้น สมมติว่าเป็นเด็กบนดอยลงมาเรียน ถ้าเด็กไม่ได้เรียนตามเส้นทางที่พ่อแม่ต้องการ หรือเกิดทำสิ่งผิดพลาด เขาก็จะเอาเด็กออกจากโรงเรียนเลย สุดท้ายเด็ก ๆ ก็ต้องการโอกาส ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจเขาก็จะไม่ได้มีโอกาสตรงนั้นต่อไป
ปริญญา ปินะถา (เกอร์)
ภาควิชาครุศาสตร์โยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
เรามายืนอยู่จุดนี้ เราต้องทำหน้าที่ให้มันดีที่สุด ทุกครั้งที่ได้ไปยืนหน้าห้อง รู้สึกว่ามีความสุข มีความมั่นใจที่จะสอน ครูก็มีหน้าที่สอนครับ ไม่ได้มีหน้าที่อย่างอื่น ครูคือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน ถ้าเราไม่ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน และให้นักเรียนไปทำอย่างอื่น เราสมควรเรียกตัวเองว่าเป็นครูหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าผมเกิดมาเป็นครูแล้ว ผมก็จะเป็นครูเลย ถ้าผมสูญเสียความเป็นตัวตนของผมไป ผมก็สูญเสียความเป็นครูไป งั้นผมเลิกเป็นครูไปดีกว่า ไม่ต้องมาอยู่ในระบบอะไรแบบนี้ ผมไม่ยอมให้ตัวเองเป็นครูแบบไม่ตั้งใจสอน ไม่อยากสอนนักเรียนแล้ว ผมเลิกเป็นครูดีกว่า
ณัฐวุฒิ พิมพิพัฒน์ (กอล์ฟ)
ภาควิชาครุศาสตร์โยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
พอเรามาอยู่ที่นี่ สังคมเปลี่ยน คนเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ประสบการณ์ที่เราได้คือเรื่องใหม่ๆ เหมือนเราได้ออกจากพื้นที่ safe zone มาที่นี่ก็ได้ประสบการณ์มากขึ้น เพื่อนๆ ที่มาด้วยกัน แต่ละคนก็มาจากต่างที่กัน การใช้ชีวิตร่วมกัน ก็เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ อย่างเรื่องการสอน เพื่อนก็จะมีเทคนิคต่าง ๆ ที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน ช่วยดูแลซึ่งกันและกันเรื่องกินอยู่ เรื่องใช้ชีวิตในที่ที่แตกต่างจากที่เราเคยอยู่ ผมคิดว่าคุณค่าที่ผมได้มากที่สุดตอนนี้คือ การให้ เป็นการให้โอกาส พอเรามาฝึกสอน เราช่วยแบ่งเบาภาระพี่ๆ ช่วยสอน เมื่อก่อนเด็กไม่ได้เรียนวิชานี้ ตอนนี้ก็ได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น คำว่าครู มันอาจเป็นแค่คำเรียก แต่ว่าการเป็นครู ทุกคนสามารถเป็นได้ ถึงผมจะไปทำอาชีพอื่น ผมก็เป็นได้ เป็นครูมาจากข้างใน ผมอยากจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ เด็กที่อยู่บนดอยสูงๆ พ่อแม่ยากจน โอกาสทางการศึกษาน้อยมาก ผมจะพยายามทำให้เด็กในส่วนนั้นรับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะวิธีการใดๆ เช่น มีเวลาไปมอบหนังสือ ไปสอนเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ผมจะทำ
กุลสตรี ลือกิจนา (ปุ้ย)
ภาควิชาครุศาสตร์โยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
สิ่งที่หนูได้คือการเรียนรู้กับเด็ก เด็กแต่ละพื้นที่มีความเป็นเด็กไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ปัว หรือบ่อเกลือ จะมีความดื้อ ความซน ความน่ารัก ต่างกันออกไป เราพยายามที่จะทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านการกิน ที่กรุงเทพฯ หนูกินข้าวสองสามทุ่ม แต่ที่นี่ ห้าโมงเย็นต้องกินแล้ว ไม่งั้นมันจะปิดทุกอย่าง พยายามปรับตัว พอหนูได้มาสัมผัสกับเด็ก ทำให้ความเป็นครูของหนูเพิ่มขึ้นมาอีกส่วนนึง สิ่งที่หนูพยายามและอยากจะทำให้ได้คือการที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม
ศุภณัฐ สระทองโฉม (โป้)
ภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
ผมสนใจมาตั้งนานแล้ว อยากจะรู้ว่าการมาเป็นครูอาสาจริงๆ แล้วมันเป็นยังไง เคยเห็น เคยอ่าน แต่ไม่เคยสัมผัส เราไปที่ใหม่ๆ เราอาจได้ประสบการณ์มากขึ้น หรือได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น แบบที่เทคนิคทั่วไปมันให้ไม่ได้ การที่เราได้มาใช้ชีวิตอยู่กับเขาจริงๆ ตรงนี้มันได้สอนอะไรหลายอย่าง ให้กับเรา และได้เปิดมุมมองอีกเยอะแยะมากมาย ทั้งนิสัยของผู้คน ความเป็นอยู่ของในแต่ละพื้นที่ หรือความยากลำบากของเขาที่เราไม่มีทางจะเข้าใจ ถ้าพูดถึงปัญหาการศึกษา มันว่าคือมันปล่อยปะละเลยเยอะ เข้าใจว่าเด็กก็มีภาระ อยากให้ครูที่มาสอน หรือหลายคนที่มาสอน ทำให้เด็กได้เห็นความสำคัญของการเรียน ไม่ใช่ว่าทิ้งการเรียนแล้วไปทำอย่างอื่น ไม่อยากให้ทำแบบเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ สำหรับผมจริงๆ แล้วความเป็นครู ไม่ต้องเป็นอาชีพครูก็ได้ ผมว่าครูคือคนที่พัฒนาเด็กและให้ความรู้เด็ก ครูจริง ๆ ต้องเข้าใจและพูดคุยสิ่งต่าง ๆ กับเด็กได้ ผมว่าระบบมันไม่เอื้อให้กับครู ทำไมความเจริญมันต้องไปแค่โรงเรียนที่คนใหญ่คนโตไป ทำไมโรงเรียนรอบนอกมันไม่มา แล้วครูมาสอนเขาจะมีกำลังใจสอนได้อย่างไร อุปกรณ์ก็ไม่มี การสนับสนุนการซัพพอร์ตก็ค่อนข้างน้อย มันก็ค่อนข้างยากที่จะทำให้มันดีได้ ที่นี่มันไม่ได้ให้ประสบการณ์แค่เรื่องการสอนหรือการทำงาน มันให้ประสบการณ์ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต การเข้ากับผู้คน เรื่องของสังคมในแต่ละที่ ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจ มีความมุ่งมั่นสนใจจะพัฒนาอะไรสักอย่าง อยากจะชวนให้มาที่นี่ เพราะยังมีเด็กๆ อีกหลายคน ที่ต้องการครูดีๆ ที่ขึ้นมาสอน