การเรียนรู้วิถีใหม่ในแบบที่คุณอยากให้เป็น

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกในหลากหลายมิติ ทั้งการทำงาน การรักษาสุขภาพ หรือแม้แต่การศึกษาก็ต้องเผชิญกับภาวะของการปรับตัวครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน  เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วสู่การเรียนรู้แบบออนไลน์ ที่กำลังจะกลายเป็นความปกติใหม่ของสังคมไทยมากขึ้น และการเรียนรู้แบบออนไลน์ก็ไม่ใช่แค่การสอนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเท่านั้น  แต่การเรียนรู้วิถีใหม่นี้ยังมีอีกหลายมิติให้เราต้องทำความเข้าใจ และอยากให้เป็น 

KMUTT Voice  ชวนแลกเปลี่ยนมุมมอง ในหัวข้อ “การเรียนรู้วิถีใหม่ในแบบที่คุณอยากให้เป็น” ลองไปติดตามพร้อมกัน และคุณล่ะอยากให้การเรียนรู้วิถีใหม่เป็นอย่างไร

ภูมัย ลาภทวีปัญญา
นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ  คณะวิศวกรรมศาสตร์

“วิชาที่เป็นวิชาทางทฤษฎี หรือที่เป็นในเชิงคำนวณ ผมว่าควรมีการจัดให้มีการศึกษาในรูปแบบออนไลน์เข้ามาร่วมด้วยครับ เหตุผลหนึ่งเพราะต้องการลดการสัมผัส เว้นระยะห่างในช่วงโควิดด้วย หากเรียนออนไลน์และมีคลิปวีดีโอสอนเพื่อให้ทบทวน จะเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายกว่าการ Lecture ในห้องอีกครับ อีกทั้งยังประหยัดเวลาในการเดินทางสำหรับคนที่อาศัยอยู่ไกลมหาวิทยาลัยด้วย อาจจะมีการบูรณาการกิจกรรมเชิงปฏิบัติในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยบ้างตามสมควร  ส่วนวิชาที่เป็นวิชาเชิงปฏิบัติ หรือวิชาที่ต้องทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ก็ควรที่จะจัดการเรียนการสอนในเชิงรุก โดยให้เรียนที่มหาวิทยาลัยโดยตรงเพื่อประสบการณ์ และการฝึกใช้ทักษะต่าง ๆ ไปด้วย แต่ก็ยังคงควรที่จะรักษาระยะห่างและดูแลสุขภาพอย่างปลอดภัยกับตัวเอง และผู้อื่นด้วยครับ

ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของกิจกรรมหรือข่าวสารในเชิงรุกแบบตัวต่อตัว สามารถเข้าถึงบุคคลให้มากกว่านี้ และในเรื่องของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ต่าง ๆ มหาวิทยาลัยควรมีการดูแล จัดการ ให้มากขึ้นกว่าเดิม ให้เท่าเทียม ทั่วถึง เพื่อสร้างความเสมอภาคในการศึกษา ทำให้บุคคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เกิดการพัฒนาเพื่อเป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในสังคม เพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

ภูธิป  สอนแก้ว
ศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์

“การระบาดของ COVID-19 ทำให้ส่งผลกระทบกับทุกคนในวงกว้าง ทั้งการศึกษา การใช้ชีวิตและการทำงาน มีการเปลี่ยนแปลงในการเร่งการกระตุ้นให้เกิดการยอมรับและใช้เทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดเพื่อตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ในยุคใหม่ที่เพิ่มประสบการณ์ความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น (New Normal Lifestyle) พฤติกรรมที่สัมผัสได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และการใส่ใจสุขภาพ โดยการศึกษานั้นก็ถูกประยุกต์ใช้วิธีการปฏิบัติใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถสร้าง “Hybrid Life” ที่ใช้ชีวิตทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ได้

กลไกสำคัญคือการพัฒนาการศึกษาและบริการเพื่อสนับสนุนทางการศึกษาในรูปแบบการเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Interactive ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับผู้สอนเสมือนหรือดีกว่าการเรียนในชั้นเรียน  เราต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข”

กนกพร กอปรศรีสวัสดิ์
นักศึกษา

“การศึกษาในรูปแบบวิถีใหม่ ผู้สอนควรมีทักษะรวมถึงความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงมีการเตรียมการสอนที่ดี ให้เหมาะสมกับหัวข้อนั้น ๆ  ถือเป็นโอกาสที่ดีเนื่องจากการศึกษาในยุค New Normal มีความยืดหยุ่นด้านเวลาสูงและสามารถหยิบยกสื่อ หรือสิ่งต่าง ๆ ในการนำมาสอนให้ผู้เรียนเห็นภาพและเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว

การเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ หลัก ๆ คือ เรื่องเทคโนโลยี อุปกรณ์ ไม่จำเป็นต้องสเปคสูงแต่ควรเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรองรับโปรแกรมสำหรับเรียนทางไกลได้ ส่วนอีกเรื่องก็คือ เรื่องสภาพแวดล้อมในการเรียน จัดสรรพื้นที่แวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน ไม่มีเสียงดังรบกวน และอินเทอร์เน็ตก็ต้องดีด้วยเพื่อไม่ให้เกิดกรณีสัญญาณขาดหาย ทั้งนี้รวมถึงสมาธิและสติตอนอยู่ ณ หน้าจอขณะเรียน เนื่องจากการเรียนแบบ New normal มักจะถูกรบกวนได้ง่าย จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว  หรือเผลอไปสนใจสิ่งอื่นนอกเหนือจากเรื่องที่กำลังเรียนรู้อยู่  และการศึกษาวิถีใหม่จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ และเข้ามาช่วยกันปรับปรุงให้มันดีขึ้นจากที่เป็นอยู่อย่างทั่วถึงด้วย”

ภูริวัจน์ ตั้งฐิติสันติ์
นักเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

“การเรียนในยุค New Normal นั้นได้เปลี่ยนรูปแบบไปค่อนข้างมาก จากการเรียนในห้องเรียน เป็นการเรียนออนไลน์ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ค่อนข้างรุนแรง หรือแบ่งกลุ่มสลับกันไปเรียนในห้องเรียนในช่วงที่สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง  ทำให้มีบางรายวิชาไม่สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหา และงานได้ทันตามสถานการณ์ เช่น การสั่งงานในปริมาณที่ค่อนข้างมากขึ้นกว่าตอนสถานการณ์ปกติ การสั่งงานกลุ่มซึ่งมีปัญหาในการสื่อสารกันและการประสานงานที่ค่อนข้างยาก อีกทั้งในบางรายวิชาที่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ด้วย

ในฐานะผู้เรียนก็มีการปรับตัวในหลายๆ ด้าน เช่น เตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับการสื่อสารและการเรียนออนไลน์ การเพิ่มความรับผิดชอบและเพิ่มสมาธิในการเรียนและการทำงานต่าง ๆ ในระหว่างที่เรียนออนไลน์ การติดตามข่าวสารและนโยบายของทั้งทางโรงเรียนและข่าวสารต่าง ๆ เพราะวิกฤตการณ์นี้ค่อนข้างรุนแรงและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งของโรงเรียน และรับรู้ข่าวสารเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม

การศึกษาวิถีใหม่ ในยุค New Normal นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับทุก ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตัวนักเรียนนักศึกษา หรือตัวคุณครูผู้สอน เพราะมีปัญหามากมาย เช่น ปัญหาทางเทคนิคเรื่องเครื่องมือ ปัญหาด้านการปรับตัว  เป็นต้น ทำให้การเรียนการสอนยังไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อยากให้ทุกฝ่ายในสังคมได้รับรู้ปัญหาและสร้างความเข้าใจและไม่กดดันกันและกันจนเกินไป ทั้งฝั่งของนักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ประโยชน์จึงควรร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยกันพัฒนารูปแบบวิธีการเรียนรู้วิถีใหม่ไปด้วยกัน”