มจธ. กับความเป็นสากล และการยอมรับในระดับนานาชาติ

มจธ. สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความเป็นสากลให้เกิดขึ้นกับนักศึกษา บุคลากร และประชาคม ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การจัดหลักสูตรนานาชาติ  การศึกษาดูงานต่างประเทศ  KMUTT Buddies รวมทั้งการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นสากล  ซึ่งการพัฒนา มจธ. สู่ความเป็นสากล เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นและผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ (Visibility)
“KMUTT Voice” พูดคุยกับประชาคม มจธ. เพื่อสะท้อนมุมมอง และความคิดเห็นถึง มจธ. กับความเป็นสากล และการยอมรับในระดับนานาชาติ

พีรณัฐ หล้าสมศรี
ศิษย์เก่าสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

            “ความเป็นสากล หรือ Internationalization เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่จะทำให้การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงกับตัวผู้เรียนที่จะทำให้เกิดการเชื่อมั่นที่จะเข้ามาศึกษาต่อใน มจธ. เพราะการที่มีความเป็นสากลต้องเกิดจากการร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายไม่เฉพาะด้านการเรียน แต่รวมถึงทางด้านสังคม ทำให้เกิดการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันกับองค์กรภายนอกหรือมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ ทำให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงสร้างสรรค์สามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองและสามารถส่งต่อให้กับคนอื่น ๆ ได้

           มจธ. มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสำหรับความเป็นสากล หน่วยงานและคณะมีความร่วมมือซึ่งกันและกัน ตัวอย่างคือ มจธ. มีสำนักงาน International Affair ที่ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษามีความสนใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมกับนานาชาติ เกิดการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้มีความเข้าใจการเรียนรู้ในมุมมองของนานาประเทศ อยากออกไปศึกษาโลกภายนอกห้องเรียนว่ามีการพัฒนาในแต่ละด้านอย่างไร และทำให้นักศึกษาเกิดวัฒนธรรมการแข่งขันที่จะพัฒนาตัวเองให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติ จะทำให้ตัวเด็กได้รับการยอมรับและมั่นใจเมื่อจบออกมาแล้วจะได้งานที่ดี ซึ่งต้องมาจากเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ การแสดงความคิดเห็นที่สามารถนำไปพัฒนา นำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

           ปัจจัยสำคัญที่จะพา มจธ. ก้าวไปสู่ความเป็นสากล คือการที่ไม่หยุดพัฒนา เมื่อไรก็ตามที่หยุดพัฒนาก็จะไม่มีการเติบโต ซึ่งต้องมาจากการวิเคราะห์ในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ทุกครั้งว่าสิ่งที่ทำไปนั้นให้ประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา บุคลากรหรือองค์กรอย่างไร ซึ่งหากมีปัญหาต้องเกิดการแก้ไข ปรับปรุง และนำตัวอย่างความสำเร็จจากนานาชาติมาต่อยอด ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาให้กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น พร้อมพัฒนาความสามารถของนักศึกษาที่มีอยู่ให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยการมีการให้รางวัลที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการเรียนรู้และก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้”

ดร.ปริยาภัทร นิลสลับ
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

           “ความเป็นสากลนั้นจะทำให้เกิดการยกระดับมาตรฐานของการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถในการรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายทั้งในบริบทของประเทศและบริบทโลกได้ ดังนั้นผลสัมฤทธิ์จากผลผลิตที่มีคุณภาพจึงก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย ประเทศ และโลกเช่นเดียวกัน  ภาพที่สะท้อนการพัฒนาสู่ความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยมาจากหลากหลายตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางวิชาการต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของการแลกเปลี่ยน การได้รับทุนวิจัย การได้รับรางวัลของคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา จำนวนผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ ที่ถูกอ้างอิง และนำไปใช้ประโยชน์ จำนวนงานบริการวิชาการ จำนวนความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต จำนวนคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาต่างชาติ เป็นต้น เหล่านี้แสดงให้เห็นความน่าเชื่อถือและการให้การยอมรับที่เกิดขึ้น

           การสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย คือ รากฐานสำคัญ ที่มีผลให้ประชาคม มจธ. เห็นถึงความสำคัญของความเป็นสากล เกิดการมีส่วนร่วม การยอมรับและปรับเปลี่ยน ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ ผลลัพธ์ที่มีประโยชน์ และผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาความเป็นสากลจากภายในมหาวิทยาลัยออกไปสู่การยอมรับภายนอก”

ธนทัต วงษ์เอบุษ
สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

            “โลกทุกวันนี้มีสิ่งต่าง ๆ อยู่รอบตัวของเราอย่างไร้ขีดจำกัด ความเป็นสากลจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เช่น ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมการสื่อสาร เป็นต้น  ซึ่งปัจจุบัน มจธ. ก็สร้างบรรยากาศความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักศึกษาหรือบุคลากรชาวต่างชาติ โดยมีการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น กิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาคนไทยและนักศึกษาชาวต่างชาติให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนในด้านของภาษาและวัฒนธรรม เป็นต้น การพัฒนาการเรียนการสอน หลาย ๆ คณะเปิดหลักสูตรนานาชาติหรือโปรแกรมภาษาอังกฤษมากขึ้น ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายให้กับนักศึกษาชาวต่างชาติได้มีทางเลือกและดึงดูดให้เข้ามาเรียน  ด้านการเรียนหลายหลักสูตรพยายามยกระดับด้านภาษาต่างประเทศ โดยเน้นไปทางภาษาอังกฤษ ให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจและสามารถสื่อสารได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่สอน (Slide Show) ตำราเรียน (Class Material) หรือแม้แต่การมอบหมายงาน (Assignment) เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบันมากขึ้น ที่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้หรือสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น และนักศึกษายังจบออกไปเป็นพลเมืองโลกสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก”

ณัฐวีรัช พงศ์ศศิเดชน์
สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์

           “ความเป็นสากลนั้นถือได้ว่าเป็นแนวทางหนึ่งของทุกองค์กรที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาจะมีความสำคัญในการที่จะทำให้นักศึกษา หรือแม้กระทั่งบุคลากร มีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติในมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น หรือพูดได้ว่ากำลังผลักดัน ชื่อของ มจธ. หรือ KMUTT ไปสู่ความเป็น global branding เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับระดับสากล การไปสู่ความเป็นสากลนั้นไม่ใช่แค่เพียงด้านวิชาการ แต่รวมถึงด้านการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้และการปฏิบัติ นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น และปรับใช้ในโอกาสต่าง ๆ มหาลัยมีแนวคิดหลายด้านที่คอยปรับเพื่อไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ สถานที่แห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Space มีการให้ความสำคัญและสร้างเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา ซึ่งทำให้การเรียนรู้ต่างไปจากเดิม ที่เน้นไปที่การ Lecture เปลี่ยนเป็นการปฏิบัติให้เห็นภาพได้ชัดมากยิ่งขึ้น และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน และอาจารย์ ทำให้ได้แนวคิด ไอเดียใหม่ ๆ หรือความคิดเห็นของผู้อื่นในมุมมองที่แตกต่างออกไป ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้รู้จักยอมรับความคิดที่หลากหลายโดยไม่ยึดติดกับความคิดของตนเอง  นอกจากนี้วิธีการสอนของอาจารย์บางท่าน ยังมีการปรับความรู้ใหม่ ๆ จากต่างประเทศมาใช้ในคลาส ทำให้รู้สึกถึงการพัฒนาในด้านการเรียนรู้ ความคิดและวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ในทางวิชาการ รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาถือเป็นการนำไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น โดยสามารถเรียนรู้จากการสื่อสารและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างนักศึกษาด้วยกันเองได้อีกด้วย 

           ผมมองว่าการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาร่วมกับประสบการณ์ของคณาจารย์และบุคลากร อาจเป็นตัวช่วยผลักดันให้ มจธ. เกิดแนวทางการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อการก้าวไปสู่ความสากลมากขึ้นได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันแนวคิดต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่เริ่มมีความเป็นสากลมากขึ้น เพราะการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ ดังนั้นแนวทางการรับรู้หรือแนวคิดจะต่างจากเดิม”