“สถานีต่อไป มจธ. ท่านผู้โดยสารสามารถเริ่มต้นความฝันของตัวเองได้ที่สถานีนี้.
Next Station KMUTT, Passenger can connect to your dream at this station.”
ขอแสดงความยินดีและขอต้อนรับน้อง ๆนักศึกษาใหม่ มจธ. ทุก ๆ คน สำหรับน้อง ๆ Freshy ที่เข้ามาใหม่ทุกคน ที่ยังไม่รู้ว่าสังคม ชีวิต การเรียนที่ มจธ. เป็นยังไงบ้าง หรือกลัวว่าจะปรับตัวไม่ได้ เราขอแนะนำเรื่องที่เด็ก มจธ. ต้องรู้ เพื่อที่จะต้องให้น้อง ๆ ใช้ชีวิตใน มจธ. ง่ายขึ้น สนุกและมีความสุขตลอดการเป็นนักศึกษาในรั้ว มจธ. จะมีเรื่องอะไรกันบ้าง เราไปดูกันเลย~
เรื่องแรกเลย คือเรื่องการเรียนและการสอบ หลายๆ รายวิชาใน มจธ. จะมีการสอนในระบบโมดูล (Module) กล่าวคือใน 1 วิชาหลักจะแยกออกมาเป็น 2 หรือ 3 วิชาย่อย เช่น วิชา MTH101 คณิตศาสตร์ 1 จะถูกแยกออกเป็น 2 วิชา คือ MTH10101 ลิมิต ความต่อเนื่องและอนุพันธ์ และ MTH10102 ปริพันธ์ โดยสองวิชานี้จะคำนวณเกรดแยกกัน สามารถถอนรายวิชาตัวใดตัวหนึ่งออกได้ โดยจะสังเกตว่ามี 01 02 หรือบางวิชาจะมี 03 ต่อท้าย หมายถึงเป็นโมดูลที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ โดยทั้งสามโมดูลจะใช้ตารางเรียนช่วงเดียวกัน แต่จะเรียนโมดูลที่ 1 ก่อน แล้วสอบวัดผล จากนั้นค่อยเรียนโมดูลต่อไป (คล้ายกับระบบ Block Course Learning ที่เรียนและสอบทีละรายวิชา แต่ในกรณีนี้คือเรียนและสอบทีละโมดูล) เราเรียกระบบการเรียนรูปแบบนี้ว่า OBEM หรือ Outcome-Based Education Module วิชาที่มีการสอนในรูปแบบ OBEM จะเป็นวิชาในคณะวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ได้แก่วิชาพื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์(หรือที่หลายๆคนชอบเรียกว่า แคลคูลัส) ฟิสิกส์ เคมี เป็นต้น
และเนื่องจากบางรายวิชามีถึง 3 โมดูล แน่นอนว่าการสอบที่นี่ก็มีเทอมละ 3 ครั้งเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการที่รายวิชาต่างๆ แยกออกมาถึง 3 โมดูล โดยทั่วไปแล้ว เด็กบางมด จะเรียน 5 สัปดาห์สอบ 1 ครั้ง เรียนต่ออีก 5 สัปดาห์จากนั้นสอบและสุดท้ายเรียนอีก 5 สัปดาห์แล้วสอบ ครบ 1 เทอมพอดี เรื่องนี้อาจทำให้เด็กบางมดหลายคนอยากกรีดร้อง เพราะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปแปปเดียวสอบอีกแล้ว แต่แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยออกแบบมาไม่ให้น้อง ๆ จดจำเนื้อหามากเกินไปในการสอบแต่ละครั้ง ถือว่าช่วยลดความเครียดในครั้งที่สอบลง อย่างไรก็ตามในวิชาที่ไม่ได้แยกเป็นโมดูลจะแบ่งการสอบออกเป็น 3 รอบเช่นกัน ตามปฏิทินของมหาวิทยาลัย โดยจะเรียกช่วงสอบในแต่ละครั้งว่า Block#1 , Block#2 และ Block#3 ต่างกับมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นระบบ Midterm Exam และ Final Exam
และเนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคนแล้ว ดังนั้นรายวิชาส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยจึงใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการส่งงานอีกด้วย นอกจากจะสะดวก รวดเร็วและยืดหยุ่นแล้ว ยังช่วยลดการใช้กระดาษในการส่งงานอีกด้วย ซึ่งอาจารย์จะใช้ Microsoft Team และ ระบบ LEB2 (Learning Environment version B2) เป็นหลักในการมอบหมายงาน
นอกจากนี้ยังมีบัญชีผู้ใช้ที่น้องๆควรรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์เน็ต บัญชีอีเมลต่างๆเพื่อเข้าใช้งานระบบต่างๆของมหาวิทยาลัย
ในระหว่างวัน หากน้องๆต้องการสถานที่อ่านหนังสือหรือนั่งทำงาน ทางสำนักหอสมุดนอกจากที่จะเป็นแค่ห้องสมุดแล้ว ยังมีพื้นที่ทำงานให้กับน้องๆด้วย หรือที่เราเรียกว่า Learning Space ให้น้องๆ ได้นั่งทำงานกับเพื่อนๆ ติวก่อนสอบหรือแม้กระทั่งพักผ่อน ได้แก่
- Lego &Board Game
ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของตึกการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) โดยจะมีทั้งบอร์ดเกมต่างๆและของเล่นในรูปแบบตัวต่อพลาสติก (LEGO) ให้น้องๆ ได้เล่นได้ฟรีปล่อยสมอง ปล่อยใจให้ผ่อนคลายแล้วนั่งเล่นบอร์ดเกมกับเพื่อนๆกันได้ที่ห้องนี้ โดยห้องนี้เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9:00 – 17:00 น. - Learning Commons
ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ของตึกการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) โดยจะมีโต๊ะและเก้าอี้ให้น้องๆได้มานั่งทำงานร่วมกับเพื่อนๆของน้องๆได้ นอกจากนี้ยังมี Projector และ Power Boad ให้น้องๆได้ใช้อีกด้วย โดยห้องนี้เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9:00 – 17:00 น. - Klinics 1
ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ของสำนักหอสมุด (KMUTT Library) ให้บริการตามเวลาทำงานของสำนักหอสมุดเลย โดยจะห้องนี้จะมีโซฟานุ่มๆ โต๊ะให้น้องๆได้นั่งอ่านหนังสือ ทำงานหรือจะงีบหลับก็ได้ และมีโซนที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการสืบค้นข้อมูลด้วย แอบกระซบนิดนึงว่าห้องนี้ไม่ควรส่งเสียงดังมากนะ เดี๋ยวจะกระทบคนอื่นๆ เนื่องจากบรรยากาศของห้องนี้ค่อนข้างเงียบสงบและเป็นพื้นที่ของห้องสมุด - Klinics 4
เป็นลานกิจกรรมอยู่ใจกลางสำนักหอสมุดชั้น 1 มีทั้งโซนที่ใช้ทำกิจกรรมต่าง มีเปียโน (สงวนสิทธิ์ให้เฉพาะคนที่เล่นเป็น เนื่องจากอาจเป็นการรบกวนผู้อื่น) ร้านกาแฟ และเก้าอี้ให้น้องๆได้นั่งทำงานได้ - KM ROOM
ตั้งอยู่บริเวณชั้น 5 ของสำนักหอสมุด (KMUTT Library) สำหรับน้องๆที่ต้องการห้องประชุมสำหรับติว ประชุมกลุ่ม โดยมีทั้งห้องสำหรับ 3 คนไปจนถึง 6 คนเลยทีเดียว แต่น้องๆต้องทำการจองล่วงหน้า ได้ที่ https://kmutt.me/KM_ROOM - KM Stand
ตั้งอยู่บริเวณชั้น 5 ของสำนักหอสมุด (KMUTT Library) สำหรับน้องๆที่ต้องการนั่งทำงาน นอกจากนี้ยังมีที่น้องให้น้องๆได้งีบชาร์จพลังด้วย
หลังจากเรื่องเรียนแล้วเรื่องกินก็สำคัญไม่แพ้กัน ในรั้วมหาวิทยาลัยมีแหล่งจำหน่ายอาหารตามสั่ง/อาหารมื้อหลักอยู่ 4 ที่ ได้แก่ บริเวณหลังอาคารเรียนรวม 1, บริเวณใต้หอพักนักศึกษาหญิง, บริเวณใต้หอพักนักศึกษาชาย และบริเวณโรงอาหารของมหาวิทยาลัย มีตัวย่อว่า KFC (KMUTT Food Centre) มีร้านสะดวกซื้อ (7-11) 2 แห่ง นอกจากนี้ยังมีตลาดนัดวันพุธและพฤหัสบดีที่อาคารจอดรถ (S2) อีกด้วย
พูดถึงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว น้อง ๆคงอยากรู้เกี่ยวกับการเดินทางไปข้างนอกกันบ้างแล้ว เพราะชีวิตของน้อง ๆคงไม่ได้อยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยแน่นอน น้อง ๆคงอยากรู้แล้วหล่ะว่ารถประจำทาง หรือที่เราเรียกว่า รถเมล์ ที่ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยว่าสามารถไปไหนได้บ้าง ผ่านรถไฟฟ้าบ้างไหมนะ แล้วเมื่อไหร่ชาวบางมดจะมีรถไฟฟ้าใช้บ้าง หลักๆ ชาว มจธ. จะมีรถเมล์ให้เลือกใช้อยู่ 4 สาย นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวเล็กด้วย หรือที่ชาว มจธ. เรียกว่า “กะป๊อ” นิยมใช้เดินทางรอบๆ มหาลัยที่ไม่ไกลมาก สำหรับน้อง ๆ แต่ต้องการเดินทางต่อที่รถไฟฟ้า น้อง ๆ สามารถต่อรถจากรถเมล์ที่ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยทั้ง 4 สายได้เลย
น้องๆที่เป็นเด็กต่างจังหวัดที่ต้องอยู่หอพักหรือเช่าที่พักแถว มจธ. นั้น คงจะต้องหาแหล่งซื้อวัตถุดิบทำอาหาร ซื้ออาหารหรือแม้จะซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เราจึงได้รวมรวมวิธีเดินทางไปยัง ซุปเปอร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ตและตลาดบริเวณใกล้ๆ มจธ. ให้น้องๆ แบบไม่ไกล ค่าเดินทางสบายกระเป๋า
และนี่ก็เป็น Guide Book ฉบับย่อของน้องใหม่ มจธ. สุดท้ายแล้ว ขอให้น้องๆ สนุกกับการเรียน การใช้ชีวิตที่ มจธ. แล้วพบกันใหม่ค่ะ