การเป็นตัวเองอย่างสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็ก ได้มีส่วนร่วมทางความคิด พัฒนาต่อยอด และลงมือทำที่ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้

ในวันที่โลกอนาคตปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ยากต่อการคาดเดา เราอาจไม่ได้วัดคุณค่าด้วยคะแนนสอบทางวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อหมดคาบเรียนเราต้องใช้เวลาชีวิตอยู่ในสังคม เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้กระบวนการด้านอื่นเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม จะดีแค่ไหนถ้ามีโรงเรียนที่แปลความต้องการและหาสิ่งที่ใช่สำหรับผู้เรียนได้

ในวันนี้เราจะพามารู้จัก ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ โรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในทุกๆ กระบวนการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิด ร่วมแบ่งปัน ร่วมตัดสินใจ จนมีจุดตรงกลางที่ทุกคนยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม สีผม การแต่งกาย แม้กระทั่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมีการพัฒนาวิธีการเพื่อลดระบบขั้นตอนให้กระชับเหมาะสมกับการเรียนรู้มากที่สุด

“การเรียนรู้ที่ดีกว่า ไม่ได้มาจากการที่ครูค้นพบวิธีการสอนที่ดีกว่า แต่มาจากการให้โอกาสที่ดีกว่าแก่ผู้เรียน ให้สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง”

Professor Seymour Papert ผู้พัฒนาแนวคิดทฤษฎี Constructionism, MIT Media Lab

นี่คือแนวคิดของโรงเรียนดรุณฯ โรงเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ที่มีกระบวนการ 3 ขั้นตอน ที่ถูกออกแบบให้หมุนเวียนในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง Think-Make-Reflection คิดผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และสะท้อนปัญหาปรับแก้ไข เป็นพื้นฐานในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กประถม-มัธยมปลาย ได้เข้าใจ และมีพื้นที่สร้างสรรค์พัฒนาความสามารถที่หลากหลาย ทำให้เข้าใจสังคมปัจจุบันและพร้อมสำหรับ Step ต่อไปของการเปลี่ยนแปลง

โดยบทความนี้จะพาไปพบกับกลุ่มเด็กดรุณ ฯ โอเค – ชยพรหม ศิริดำรงค์ศักดิ์ เกน – นภัสนันท์ ภู่นิ่ม ต้นกล้า – ณัฐกิตติ์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้ลงสมัครเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียนจากพรรค Eleganze ที่มีงานอดิเรกไม่ว่าจะเป็นทำเบเกอรี่ย์ เล่นเกมส์และดูหนัง และพรรค D Zentinel มาร์ก – วรภาส ศรีสุขสวัสดิ์ (อดีตประธานนักเรียนรุ่นที่ 7 ปีการศึกษา 2565) เฟม – นันทภัค กิตติรัตนวิวัฒน์ กิมจิ – ณพงศธร ทรงสวัสดิ์ (ประธานคณะสีชมพู ปีการศึกษา 2565) โดยกลุ่มนี้มีงานอดิเรกอย่างหลากหลายและน่าสนใจคือ ถ่ายรูป เล่นดนตรี มีความสนใจ IT ภาษามือ และอ่านข่าวการเมืองต่างประเทศ และ ครูขิง – ดร.คมสัน รักษ์ศิริ ที่ปรึกษาคณะกรรมการนักเรียน และคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งฯ ที่จะมาพูดถึงมุมมองสิ่งที่เด็กได้รับจากกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากกิจกรรมเลือกตั้ง การแต่งกาย สีผม ทรงผม

โอเค

ชยพรหม ศิริดำรงค์ศักดิ์

เกน

นภัสนันท์ ภู่นิ่ม

ต้นกล้า

ณัฐกิตติ์ ประเสริฐศักดิ์

มาร์ก

วรภาส ศรีสุขสวัสดิ์

เฟม

นันทภัค กิตติรัตนวิวัฒน์

กิมจิ

ณพงศธร ทรงสวัสดิ์

ชอบและสนุกที่ได้ทำอะไรในโรงเรียนแห่งนี้

ต้นกล้า – ณัฐกิตติ์ ประเสริฐศักดิ์ “ชอบและสนุกกับวิชาที่ได้เรียนและประทับใจในตัวคุณครู” และในวิชา Project ยังได้ทำในสิ่งที่ชอบและพัฒนาในด้านนั้น รวมถึงมีคุณครูและผู้เชี่ยวชาญคอยซัพพอร์ตในเรื่องที่สนใจ

เฟม – นันทภัค กิตติรัตนวิวัฒน์ “ประทับใจในตัวเพื่อนๆ น้องๆ คุณครูในโรงเรียนแห่งนี้ เพราะครูที่นี่ไม่ได้กดดันเปิดโอกาสให้ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ โดยครูจะอยู่ในบริบทเป็นที่ปรึกษา ให้การสนับสนุน ให้เราได้ลงมือทำแก้ปัญหาด้วยตนเอง” เฟมได้พูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนได้จัดโดยหนึ่งในนั้นคือ กิจกรรมละลายพฤติกรรมในช่วงเช้า ที่ทำให้เด็กๆ หลายๆ ช่วงชั้นในโรงเรียนทำความรู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ส่งผลต่อการระดมความคิดในวิชาโปรเจกต์ทำให้เด็กกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นกับเพื่อนในกลุ่ม เพราะในวิชาโปรเจกต์ของทางโรงเรียนเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีประเด็นเรื่องที่สนใจเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ อีก ตามที่เด็กสนใจ และแม้ว่าในโรงเรียนไม่มีครูที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ แต่ทางโรงเรียนจะมีการเชิญผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ในด้านนั้นๆ มาให้ความรู้แก่นักเรีย

“Play hard Learning hard” เป็นคำที่ใช้ได้จริงในโรงเรียนนี้ เพราะการที่เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ เรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ จะนำไปสู่การต่อยอดไอเดียที่เป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่สิ้นสุด.

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากความแตกต่างที่หลากหลาย

จะเห็นได้ว่าที่ DSIL เต็มไปด้วยเด็กที่มีจุดแข็ง เอกลักษณ์ ความชอบ ความสามารถที่โดดเด่นกันหลายคน การเรียนรู้จากความแตกต่างที่หลากหลาย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคนจึงนำไปสู่บทเรียนการเคารพซึ่งความคิดเห็นของกันและกัน

เฟม : “ในโรงเรียนมีเด็กที่มีความชอบแตกต่างกันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นชอบการแสดง ชอบกล้อง ชอบรถยนต์ ชอบการทำธุรกิจ และอื่นๆ อีกมายมาย สิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างแรก คือ การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายในสังคมของมนุษย์ เราได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเพื่อนๆ รอบข้าง ไปจนถึงการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำและผู้ตาม สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้ตาม คือ เมื่ออยู่ในบริบทนี้เราเจอเพื่อนที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน การสนับสนุนเพื่อนจึงเป็นสิ่งที่ดี เราอาจเสนอเหตุผลในแง่มุมของเราได้แต่ต้องไม่ทำให้เพื่อนต้องรู้สึกเครียดหรือกดดันกับความคิดเห็นของเรา”

ต้นกล้า : “เราเรียนรู้จากความชอบที่แตกต่างเพราะเด็กนักเรียนที่นี่มีความชอบที่ความหลากหลาย เราสามารถดึงจุดเด่น จุดแข็งความสามารถของเพื่อนมาเรียนรู้ให้เป็นโอกาสได้”


สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการหาคำตอบด้วยตนเอง ขั้นตอนไหนท้าทายมากที่สุด

โอเค : “การที่เราพยายามหาคำตอบด้วยตัวเองท้าทายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองหรือการขอความช่วยเหลือ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะเชื่อว่าการทำซ้ำไปเรื่อยๆ จะเกิดการเรียนรู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น”

ต้นกล้า : “อาจารย์มักจะกำหนดโจทย์ให้เราไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรกับโจทย์นี้ วางแผน กรอบทิศทาง พอเราได้เริ่มลงมือทำ เราจะเรียนรู้จากสิ่งนั้นและเกิดความรู้สึกท้าทายกับโจทย์มากขึ้น”

กิมจิ : “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการหาคำตอบด้วยตนเอง สามารถแบ่งได้ 2 อย่าง คือ เรียนรู้จากปัญหาที่เป็นโครงสร้างหลักและปัญหาเฉพาะหน้า โดยปัญหาที่เป็นโครงสร้างหลักจะเกิดจากการวางแผน ขอบเขตงานทั้งหมดที่เราจัดทำขึ้น เราได้องค์ความรู้ที่มาจากขั้นตอนการทำงาน และรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหา ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การฝึกไหวพริบจากการสังเกตที่มีเรื่องความเร็วเข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องยอมรับการตัดสินใจของตนเอง แม้จะไม่ได้เพอร์เฟคที่สุด แต่มันดีที่สุดในช่วงเวลานั้น” และในส่วนความท้าทายที่เกิดขึ้น กิมจิแบ่งความท้าทายเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงระดมความคิดและช่วงแก้ปัญหา โดยช่วงระดมความคิด เปรียบเสมือนการวางรากฐาน โครงสร้าง ขั้นตอน กรอบ แนวทางทั้งหมดของงาน และช่วงที่ 2 การแก้ปัญหา จะแบ่งความท้าทายเป็น 2 ขั้น ขั้นแรกคือ การยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากนั้นจะนำไปสู่ขั้น 2 คือมองหาวิธีแก้ไขเพื่อหาทางออกให้กับงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ “แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องยอมรับในการทำโปรเจกต์ ย่อมมีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ได้เรียนรู้จากปัญหานั้น จากการหาทางออกที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น

มุมมองที่ได้จากการลงมือทำ

แม้ว่าทางโรงเรียนจะเปิดโอกาสให้อิสระทางความคิด เพื่อสร้างการมีมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บนกรอบจุดมุ่งหมายที่วางไว้จากการลงมือทำจริงๆ แต่เด็กๆ ต้องสร้างอะไรบางอย่างและหาแนวทางในการพัฒนาตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้จะมีค่าไม่ว่ากับตัวเอง ผู้อื่นหรือสังคม

มาร์ค : “การได้ลงมือทำจริงๆ จะทำให้เราจดจำและเกิดการเรียนรู้”

เฟม : “เรียนรู้จากความผิดพลาดและหาวิธีใหม่ ตรวจสอบข้อมูลให้ดี โดยใช้ความรอบคอบมากขึ้น และกิจกรรมที่เราทำไม่ว่าจะในหรือนอกโรงเรียนจะฝึกเราในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการใช้ชีวิต เช่น การวางตัวให้ถูกกาลเทศะ การแต่งตัว”

กิมจิ : “เราจะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำ เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจของตนเอง ความคิดมันสามารถเปลี่ยนไปได้ง่าย ยิ่งเรารู้จักตัวเองเท่าไหร่ จะทำให้สามารถพัฒนาตัวเองในเส้นทางที่ชอบได้เร็วขึ้น และการที่ทางโรงเรียนสนับสนุนด้านนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เหมือนเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถพัฒนาศักยภาพ จัดการปัญหาด้วยการออกแบบกระบวนการคิดด้วยตนเองผ่านการฝึกฝนวินัยภายในตัว

เกน : “กล้าที่จะลงมือทำอะไรใหม่ๆ เหมือนได้ออกจาก Comfort zone ของตัวเอง ยิ่งทำให้รู้สึ

ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ต้นกล้า : “จะเห็นได้ว่าในปัจุบันมีการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้มากมายกับสิ่งรอบตัว เช่น เกมคิดเลข ที่นำวิชาคณิตศาสตร์ที่ยากๆ มาประยุกต์เข้ากับเกมให้มีความน่าสนใจ น่าเรียนมากยิ่งขึ้น, การเลือกตั้งสภานักเรียน ที่มีการตั้งฝ่าย Creative content เพื่อเข้ามาช่วยเกี่ยวกับการทำนโยบายที่สร้างสรรค์เข้าถึงง่าย ตลอดจนแนวทางการโปรโมทข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพรรค ให้คนในโรงเรียนได้รับรู้และติดตาม”

เฟม : “ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีจะนำมาซึ่งนวัตกรรมแปลกใหม่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ จากการหาข้อมูลในหลายๆ อย่างเข้าสู่กระบวนการคิด ออกแบบ แก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยความคิดสร้างสรรค์นี้จะเกิดขึ้นได้ เราต้องรู้จักเรียนรู้การสังเกตสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่างๆ นำมาพัฒนาสิ่งที่ชอบให้ดียิ่งขึ้นได้”

พูดถึงกิจกรรมการเลือกตั้งของดรุณฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการการเรียนรู้ท่เกิดขึ้นในทุกมิติในโรเรียน การเลือกตั้งสภานักเรียนที่ผ่านก็เช่นกัน เป็นอีกกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ร่วมคิด ร่วมแบ่งปันข้อมูล เปิดพื้นที่โอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่

ความแตกต่างของนโยบายที่เกิดขึ้นจากปีที่ผ่านมา

ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้มีระบบการเลือกตั้งแบบ DSIL ที่มี developer, programmer พัฒนาระบบขึ้นมาเองภายใน โดย ครูขิง – ดร.คมสัน รักษ์ศิริ ที่ปรึกษาคณะกรรมการนักเรียน และคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งฯ ได้พูดถึงความแตกต่างของนโยบายที่เกิดขึ้น คือ เด็กๆ จะได้รับแนวคิดจากพรรคการเมืองในสังคมแล้วนำมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำเพื่อสังคม การเรียนรู้ในช่วงอายุต่างๆ และในบางนโยบายจะเห็นได้ว่าสังคมมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันกับความคิดที่เด็กๆ เสนอมา อย่างเรื่องผ้าอนามัยในที่สาธารณะ ที่โรงเรียนได้ดำเนินการตามสภานักเรียนที่ผ่านมาก่อนที่จะมีกระแสสังคมในเรื่องนี้

“เรื่องผ้าอนามัย สภานักเรียนของโรงเรียนเรา ตั้งเป็นนโยบายก่อนที่จะมีกระแสสังคมเกิดขึ้น โดยเราทำมาก่อน 1 ปี พอมาเจอจังหวะกระแสสังคม เราจึงพบว่า Mindset เราและสังคมไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้รู้ว่าเด็กเรานั้นมีความคิดที่ก้าวนำ จากเรื่องเล็กน้อยที่มีประโยชน์ เห็นถึงคุณค่าในความเท่าเทียม เราสร้างความเข้าใจให้เกิดการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายสามารถมาเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยกัน เราจึงได้เห็นว่านโยบายนี้สร้างอิมแพคต่อนักเรียนได้เหมือนกันและนโยบายนี้มีการใช้จริงในโรงเรียน”

เรียนรู้จากการเลือกตั้งแบบ DSIL

“แม้เราจะไม่ได้ยินเสียง 100% แต่เราได้ฟังเสียงส่วนใหญ่ หรือมีเสียงบางอย่างมันดังออกมา”

ครูขิงได้เล่าย้อนถึงที่มาของการเลือกตั้งเมื่อ 8 ปีก่อน ที่เกิดจากการที่ทางครูอยากฟังเสียงของเด็กมากขึ้น โดยใช้ช่องทางของสภานักเรียนเป็นเวที พื้นที่ให้เด็กได้ฝึกทักษะการเป็นผู้นำ ผู้ตาม ในเป้าหมายเชิงกลุ่ม แต่ถ้ามองในมุมสถานศึกษาจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้เข้าใจระบอบประชาธิปไตย เป็นการจำลองให้เด็กได้รู้จักวิธี หรือพิธีการที่เกิดขึ้นในสังคม โดยวิธีที่ดรุณฯ ใช้คือการโยนคำถาม จะไม่บอกถึงกระบวนการทำ เพื่อให้เด็กได้ฝึกคิด ส่วนครูจะอยู่ในบทบาทของที่ปรึกษา ให้คำแนะนำโครงการ เพื่อพิจารณาถึงเหตุผล ความเป็นไปได้ โดยระบบการเลือกตั้งของ DSIL นั้นก็มีจุดเริ่มต้นจากขีดความถี่ ไปจนถึงการขอความร่วมมือกับกกต. “เราพบปัญหาจากกองกระดาษที่ได้จากการเลือกตั้งซึ่งเป็น waste ที่เป็นหลักฐานของการเลือกตั้ง ซึ่งมองว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ ณ ปัจจุบันทางโรงเรียนเรามี developer, programmer พัฒนาระบบขึ้นมาเองเพื่อใช้ในโรงเรียน โดยใช้บัตรนร. เพื่อลดขั้นตอนการเลือกตั้ง โดยจะแสดงผลแบบ Realtime สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1. ลดการใช้กระดาษ 2. เราลดเวลาจากการทำกิจกรรม เพราะใช้ระบบการยืนยันตัวตนผ่านบัตรนักเรียน โดยการกดเลือกพรรคในคอมพิวเตอร์จากนั้นประมวลผลแบบ Realtime” ทางครูขิงบอกว่าระบบนี้ทางโรงเรียนไม่ได้ปิดกั้น เพราะทางโรงเรียนอยู่ในรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไรอยู่แล้ว หากมีโรงเรียนไหนสนใจสามารถเข้ามาติดต่อ ดูงานกับทางโรงเรียนได้

“แม้เราจะไม่ได้ยินเสียง 100% แต่เราได้ฟังเสียงส่วนใหญ่ หรือมีเสียงบางอย่างมันดังออกมา”

ครูขิง – ดร.คมสัน รักษ์ศิริ ที่ปรึกษาคณะกรรมการนักเรียน และคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งฯ

มุมมองการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการเลือกตั้ง

การสร้างองค์ความรู้ที่ดีในมุมมองของครูขิง คือ เด็กต้องมีประสบการณ์ร่วมในกิจกรรมนั้นๆ จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง การประดิษฐ์ โดยการเรียนรู้ที่ครบกระบวนการของทางโรงเรียน เป็นแบบ constructionism framework กระบวนการ 3 อย่าง Think make Reflection ซึ่ง Reflection เป็นการสะท้อนปัญหา และเกิดวนลูป ทำให้เด็กเกิดองค์ความรู้จาก 3 ก้อนนี้โดยอัตโนมัติ

ครูขิง : นโยบายส่วนใหญ่นำมาใช้ได้จริง แต่บางอย่างเรานำมาพัฒนา เราจะไม่ตัดจบกับความคิดเห็น แต่จะเข้าใจในจุดประสงค์ของเด็ก อธิบายให้เด็กได้เข้าใจถึงเหตุและผล ข้อจำกัดของทางโรงเรียนในบางเรื่อง
“อย่างเช่นเรื่องนโยบายผ้าอนามัย เมื่อลงมือทำแล้วเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นคือพฤติกรรมการใช้ไม่เหมือนกัน เราจึงเน้นย้ำถึงเป้าหมายการใช้ยามฉุกเฉินและต้องไม่ฟุ่มเฟือย เด็กๆ จึงมีการพัฒนานโยบายนี้จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้ ชนิดของผ้าอนามัยที่ใช้ได้จริงโดยการสังเกต และจัดสถิติ จากนั้นนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยน นโยบายนี้จึงถือว่าเป็นกระบวนสร้างการเรียนรู้ การสังเกตอีกอย่างให้เด็ก ส่วนเรื่องนโยบายขนมเบรกของทางโรงเรียน เราจึงมีการให้ความรู้เกี่ยวกับขนมเบรกที่เป็นนโยบายของทางโรงเรียน อย่างที่มาสัญญา ขั้นตอน งบประมาณ ค่าใช้จ่าย ข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ เราชี้แจงให้เด็กได้รู้และเข้าใจ เพราะอยากให้เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกใจแต่ยังอยู่ในกรอบที่โรงเรียนสามารถจัดการให้ได้ และอยู่ในสุขลักษณะที่เหมาะสมจึงจะเป็นการสร้างความเข้าใจโดยให้พื้นที่ให้เด็กได้คิดร่วมไปกับเรา”

กิมจิ : “ด้วยความที่โรงเรียนมีประชากรไม่ได้เยอะมาก เราจึงค่อนข้างที่จะรู้จักกันทั่วถึง แต่ก้มีความแตกต่างด้าน Generation ของช่วงอายุ ค่านิยม ความคิดต่างๆ ย่อมหลากหลาย หลายครั้งที่เราอาจรับฟังไม่ทั่วถึง ทางพรรคจึงหาวิธีการที่เป็นรูปธรรมให้เห็นกันมากขึ้น อย่างเช่น การทำแบบฟอร์มเพื่อสะท้อนปัญหา แล้วนำไปประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ และการเข้าใจช่วงอายุเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่เราต้องปรับการรับรู้ให้เหมาะสมกับช่วงวัย อย่างเช่นวัยเด็กจะเน้นสันทนาการ”

ต้นกล้า : “เรานำความคิดเห็นที่ได้รับจากการลงพื้นที่ พูดคุย รวบรวมเป็นข้อมูลมาต่อยอดเป็นนโยบายของพรรค เพื่อพัฒนาในจุดที่ต้องปรับแก้ การที่มีสมาชิกพรรคหลายๆ ช่วงอายุเข้ามาร่วม จึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ได้เห็นมุมมอง เห็นปัญหาในหลายๆ จุด”

มุมมองการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากเรื่อง แต่งกาย ทรงผม สีผม

ได้สอบถามครูขิงถึง เรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ของทางโรงเรียน โดยครูขิงได้บอกว่าทางโรงเรียนมีวันให้เด็กได้ใส่ชุดไปรเวท แต่ต้องถูกกาลเทศะในสถานศึกษาซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ทำเรื่องนี้มา 20 กว่าปี ตั้งแต่ประเทศไทยไม่ได้ผลักดันเรื่องนี้ โดยเป้าหมายของการให้อิสระเรื่องนี้ อยากให้กระบวนการตรงนี้สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก

“การที่เด็กจะเข้าไปอยู่ในสังคม เสื้อผ้าอาภรณ์เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความประทับใจแรกในการทำความรู้จัก สถานที่ต่างกัน การแต่งตัวควรที่จะอยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน เราจะสอนให้เด็กได้คิด แม้ในวันนี้เด็กอาจทำโดยที่ไม่เข้าใจ แต่ในวันข้างหน้าเด็กจะได้เรียนรู้การปฏิบัติโดยอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างเข้าใจ เช่น การแต่งตัวที่ต้องไปติดต่องานราชกาลควรแต่งกายอย่างไร ไปจนถึงการเลือกสวมรองเท้า โดยเฉพาะโรงเรียนเป็นสถานที่ราชกาล เราต้องเคารพในจุดนี้”

ในส่วนสีผม และทรงผม ทางโรงเรียนได้อนุญาตเรื่องนี้ก่อนที่จะมีกระแสสังคมในปัจจุบันเช่นกัน โดยทางโรงเรียนไม่มีทรงผมนักเรียนชายที่เป็นมาตรฐาน โดยอนุญาตให้ทำบนหลักความสุภาพเรียบร้อย คนที่ตัดสินใจคือเด็กและผู้ปกครอง โดยครูขิงเล่าว่าโรงเรียนนี้เคยมีตั้งแต่ยุคที่ไม่อนุญาตทำสีผมไปจนถึงช่วงแรกที่อนุญาต จึงมีเด็กที่ทำสีที่ฉูดฉาด จึงมีการพูดคุยขอจุดกลางโดยใช้เหตุผล เพราะโรงเรียนเองยังมีมุมที่ conservative เด็กๆ สามารถทำสีผมได้แต่ต้องไม่ฉูดฉาด ให้เหมาะกับกาลเทศะในสถานศึกษา โดยในปัจจุบันเด็กๆ ค่อนข้างให้ความร่วมมือ

“เรายังมีจุดที่ให้พื้นที่กับเขา ให้เขาได้ใช้ในการเรียนรู้ โดยส่วนนึงอาจเป็นเพราะเราปูพื้นฐานเรื่องการให้โอกาสในการแต่งกายชุดไปรเวท เปิดพื้นที่ให้นักเรียนแสดงออกอยู่แล้ว เรื่องทรงผมครูมองว่าเป็นเรื่องรองลงมา เลยทำให้โรงเรียนไม่มีสภาวะด้านการต่อต้าน”

ครูขิง : “การมีพื้นที่ที่ให้โอกาสเด็กได้เลือกแต่งกายตามกาลเทศะให้เหมาะสม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ครูเชื่อว่าทุกๆ กระบวนการที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ล้วนอยากให้เป็นการเรียนรู้ได้หมดเราอยู่ในบทบาทของสถานศึกษา จึงอยากให้เด็กได้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดกับทุกอย่างในโรงเรียน และในวันที่เด็กต้องออกไปใช้ชีวิตนอกโรงเรียน เรายังอยู่ในกฏ ระเบียบของประเทศไทย มีความเท่าเทียม มีความหลากหลาย มีความ conservative เด็กๆ ยังต้องพบเจอกับพื้นฐานที่เป็นปกติของสังคม เราจึงอยากสร้างเกราะป้องกันและพื้นที่ให้กับเขา แต่หากในวันที่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปยังไง ในมุมองของอาจารย์สถานศึกษาที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัว จะทำให้เด็กไหลไปกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างราบรื่น”

เฟม : การที่โรงเรียนให้อิสระในด้านนี้ ถือเป็นข้อดีที่ช่วยส่งเสริมให้เราหาตัวเองเจอ ส่งเสริมความมั่นใจ และการทำสีผมทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิต เมื่อจบการศึกษาทั้งหมดนี้ล้วนฝึกให้คิด นำไปซึ่งการให้เกียรติซึ่งกันและกัน การเป็นตัวเองบนพื้นฐานกาลเทศะในการแต่งตัว ทรงผม สีผม “เป็นตัวของตัวเองได้ แต่พอดี”

หากเรามีพื้นที่ที่เป็นความปลอดภัยทางด้านจิตใจ เหมาะสมกับการพัฒนาศักยภาพ จะทำให้เด็กได้ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ สนุกกับงานโดยใช้จุดแข็งของตนเองอย่างเต็มที่ รับมือกับความท้าทาย การเติบโตและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสบาย เป็นหัวใจสำคัญในการทำให้เด็กได้เรียนรู้การเป็นตัวเองอย่างมั่นใจและสร้างสรรค์ทั้งยังเข้าใจบริบททางสังคม เห็นคุณค่าของตัวตน ตัวคน เรียนรู้ได้กับทุกสิ่ง สร้างการเตรียมพร้อมให้เด็ก สามารถนำพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการคิดได้ด้วยตนเอง จึงส่งผลต่อการแสดงออกซึ่งความเคารพความเห็นต่างของเพื่อนมนุษย์

และนี่ยังเป็นแนวคิดหลักของดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ที่มีการเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้จากโครงงาน ( Project-Based-Learning) ด้วยวิธี Constructionism โดย Media Lab MIT ที่ศึกษาค้นคว้าและวิจัย เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก ที่เป็นไปตามธรรมชาติโดยการส่งเสริมให้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริงจากสถานการณ์จริง โดยสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จะเป็นสิ่งสำคัญ

“กระบวนการเรียนรู้ที่ใช่จะปลดล็อกศักยภาพมนุษย์ให้ก้าวขึ้นไป เป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นกว่าเดิม”