ทำความรู้จักกับสุทธหทัย นิยมวาส สถาปนิกรุ่นใหม่จากรั้ว มจธ.


ทำความรู้จักกับสุทธหทัย นิยมวาส สถาปนิกรุ่นใหม่จากรั้ว มจธ. กับการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของเด็กหาดใหญ่ นักศึกษาไทยหนึ่งเดียวคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกรายการ UnIATA 2020 ผลงาน “สถาปัตยกรรมเชื่อมความสัมพันธ์พหุวัฒนธรรมในหาดใหญ่ หรือ HAT YAI MULTICULTURAL BONDING” ที่สร้างจากแรงบันดาลใจของเด็กหาดใหญ่หวังพัฒนาภูมิลำเนาบ้านเกิดที่ภูมิใจของ “แจน น.ส.สุทธหทัย นิยมวาส” ผลงานวิทยานิพนธ์จบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (School of Architecture and Design: SoA+D) สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) ผลงานของเด็กไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ชนะรางวัลผลงานยอดเยี่ยมระดับโลก Winner-Worldwide Best Bachelor’s Thesis Project ระดับปริญญาตรี จากการแข่งขันรายการ Unfuse International Architecture Thesis Award (UnIATA 2020) การประชันผลงานวิทยานิพนธ์ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลกเวทีการแสดงผลงานสำหรับนักศึกษาสถาปนิก ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสถาปัตยกรรมในแขนงต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรม ผังเมือง และภูมิสถาปัตยกรรม


ทำไมจึงเลือกหาดใหญ่

การเลือกหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์อาจารย์ที่ปรึกษา (อ.สุนารี ลาวัลยะวัฒน์) บอกเราเสมอว่า ให้เลือกหัวข้อที่ เรารู้สึกว่า ชีวิตเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้น แสดงถึงความเป็นตัวเอง งานออกแบบจะออกมาได้ดีที่สุด แจนเลือกให้ความสำคัญเรื่องความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเอง และตัวตนความเป็นอำเภอหาดใหญ่หาดใหญ่เคยเมืองที่มีศักยภาพในตัวเอง แต่จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้สูญเสียและหลงลืมเสน่ห์ที่เคยมี ยิ่งไปกว่านั้นจากการสัมภาษณ์และค้นคว้าในวิทยานิพนธ์นี้ได้ค้นพบว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจในอัตลักษณ์ความเป็นหาดใหญ่ และสเน่ห์ที่เกิดใน ความเป็นเมืองพหุวัฒนธธรม จึงได้คิดออกแบบสถาปัตยกรรมขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยให้คนในท้องถิ่นเข้าใจหาดใหญ่ได้มากขึ้น และหวังให้หาดใหญ่กลับมาเป็นหาดใหญ่ที่มีสเน่ห์เหมือนในภาพจำของเราเนื่องจากเราเกิดและโตที่นั่น สามารถเข้าใจตัวเมืองได้มากที่สุด ดังนั้นจึงคิดว่าเราควรเป็นคนที่ออกแบบสถาปัตยกรรมที่เข้ากับบริบทเมืองได้มากที่สุด


Concept ในการออกแบบจากความเข้าใจตัวตนของท้องถิ่นตนเองเพื่อการก้าวต่อไปในอนาคต

แจนเล่าว่าเมืองหาดใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมที่หลากหลายมีการอาศัยอยู่ร่วมกันของชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวมุสลิม แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยขาดความเข้าใจถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ขาดความเชื่อมโยงเข้าใจถึงอัตลักษณ์เดิมของเมืองหาดใหญ่ ดังนั้นการทำงานของแจน จึงเริ่มต้นจากการตามหาข้อมูลอัตลักษณ์ของชุมชน และความสนใจด้านต่างๆ เพื่อประเมินความเข้าใจตัวตนของเมืองหาดใหญ่จากผู้คนในท้องถิ่น ผลที่ได้คือคนในชุมชนส่วนใหญ่คิดว่าหาดใหญ่มีจุดเด่นคือเรื่องความหลากหลายของอาหาร และการค้าขายสินค้า ขนมที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันการค้าขายสินค้าแบบในอดีตกลับได้รับความนิยมลดลง ร้านรวงก็ทยอยกันปิดหรือเปลี่ยนสินค้าที่ขายเพื่อความอยู่รอด จึงเกิดเป็นแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่จะสามารถช่วยสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง และความแตกต่างของวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งหากเราสามารถเข้าใจตัวเราเองได้มากขึ้นก็สามารถทำให้เราสามารถพัฒนาไปได้ไกลขึ้น โดยหวังให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำหรับการขยายโอกาส และเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น สำหรับคนรุ่นลูกหลานที่จะพัฒนาของดั้งเดิมที่มีในรูปแบบใหม่ๆ


HAT YAI MULTICULTURAL BONDING เชื่อมความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมที่หลากหลาย

เนื่องจากคนส่วนใหญ่คิดเห็นว่าอาหารเป็นจุดเด่นของเมืองหาดใหญ่ เราจึงจะใช้จุดนี้เพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามา ถึงแม้ว่าอาหารจะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่มันสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม และความเชื่อของผู้คนได้ด้วย อีกทั้งการใช้อาหารเป็นจุดเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น สามารถทำให้ผู้คนเปิดใจเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้จะยังคงเสน่ห์ดั้งเดิมของเมืองหาดใหญ่ที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าของภาคใต้เอาไว้ ด้วยการออกแบบให้มีการผสมผสานเรื่องของตลาดเข้าไว้ด้วยกันกับอาหารการกิน อีกทั้งยังมีส่วนนิทรรศการเพื่อไว้บอกเล่าเรื่องราวในอดีตให้ผู้คนได้ศึกษาความเป็นมาของเมืองหาดใหญ่ด้วย จึงคิดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เล็กๆ ไว้คอยให้บริการผู้คนในชุมชนนี้ค่ะ


ความภูมิใจของเด็กหาดใหญ่ ผลงานเด็กไทยเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก

แจนรู้สึกดีใจมากๆ ในฐานะที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง มีความพยายามที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง และได้ทุ่มเททำงานมาตลอดหนึ่งปีเต็มสามารถนำผลงานไปอยู่ในจุดที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและมีคนที่สามารถมองเห็นงานเราและเมืองของเราได้มากขึ้น และส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ด้วยค่ะ เพราะความแตกต่างในการเรียนการสอนที่เป็นแบบ Research Based เปิดกว้างให้นักศึกษาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์สามารถออกแบบผลงานได้โดยไม่ได้จำกัดกรอบที่ตายตัว และส่งเสริมให้มีการใช้ข้อมูลที่ได้จากการทำวิจัยเพิ่มเติมมาประกอบ ทำให้งานออกแบบของเราแตกต่าง มีเสน่ห์ และดูเข้าใจกับบริบทของเมืองมากขึ้น


สถาปัตย์ มจธ. สอนให้เปิดใจรับสิ่งใหม่ ยอมรับในคำวิจารณ์ เพื่อพัฒนาผลงานให้ดีที่สุดในแบบตัวเอง

เริ่มจากปี 1 วิชาพื้นฐานการออกแบบ หรือ Design Fundamental เป็นการปูพื้นฐานที่เราจะได้เรียนรวมกับเพื่อนจากหลายๆ ภาควิชา ช่วงปี 2 เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อมาสังเคราะห์พัฒนาต่อยอดเป็นไอเดียในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงความเป็นไปได้ที่หลากหลายเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจ ในการออกแบบอาคาร ในส่วนของการออกแบบเพื่อคำนึงถึงการนำไปใช้จริงจะมีเพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามรายวิชาที่เราเรียน ปี3 มีการลองทำโปรเจคที่ค่อนข้างทันสมัย ในรุ่นแจนได้ลองทำ Parametric Design ส่วนปี 4 เราจะสามารถเลือกเรียนได้ตาม Studio ที่เรามีความสนใจ และปี 5 ปีสุดท้ายเราจะได้นำความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบเพื่อเป็นผลงานจบการศึกษาค่ะ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการวางพื้นฐานที่ดีให้กับนักศึกษาตั้งแต่ปี 1 โดยไม่ได้จำกัดกรอบที่ตายตัว ทำให้เราค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร สามารถนำความรู้พื้นฐานนั้นไปปรับใช้ และสามารถเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆได้มากขึ้น อีกทั้งการให้ความคิดเห็นและวิจารณ์ผลงานจากทั้งอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาด้วยกันอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผลงานมีการพัฒนา เนื่องจากงานของเราได้ถูกมองผ่านมุมมองจากคนอื่นๆ นอกจากนี้ยังทำให้เรากล้าแสดงออก ยอมรับ และนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป


แจนเลือกเรียนที่สถาปัตย์ มจธ. ถือเป็นการตัดสินใจถูกอย่างหนึ่งในชีวิต

การได้มาเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. แจนคิดว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีมากสำหรับคนที่อยากเรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม การเรียนการสอนเป็นแบบหลักสูตรนานาชาติที่เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้เลย ลักษณะการสอนอาจารย์ในคณะ เปิดกว้างทางความคิดแนะนำนักศึกษาให้พัฒนาผลงานให้ดีที่สุดในแบบเฉพาะคน ผลงานจึงออกมามีเสน่ห์เฉพาะบุคคลที่ไม่เหมือนกัน มีเนื้อหาการเรียนการสอนที่ใหม่และทันสมัย และสังคมในคณะก็อบอุ่น อาจารย์มีความเป็นกันเอง รุ่นพี่ รุ่นน้องก็ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดีค่ะ