อาจารย์ มจธ. ผลิตอุปกรณ์และปรับปรุงกระบวนการ เพิ่มกำลังผลิตหน้ากากอนามัยช่วยโรงงาน ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 30%

บริษัทผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยมีเพียง 11 บริษัท และมีเพียง 2-3 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทรายใหญ่ที่มีกำลังผลิตสูง โดย รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ และอาจารย์นพณรงค์ ศิริเสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คุณไพศาล ตั้งชัยสิน นักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และ นายทศพร บุญแท้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ได้ทำงานร่วมกับบริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด หวังช่วยให้โรงงานขนาดใหญ่มีกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว ใช้เงินลงทุนไม่มาก ร่วมกับใช้เครื่องเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual ที่ให้การผลิตต่ำกว่าเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแบบอัตโนมัติ

รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมการเชื่อม กล่าวว่า บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ที่ทางมจธ.ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยคิดวางแผนและผลิตอุปกรณ์เพื่อเพิ่มกำลังผลิตนั้น เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีกำลังการผลิตที่มีสัดส่วนประมาณ1 ใน 3 ของประเทศ ในช่วงนี้บริษัทเปิดงานการผลิตตลอด โดยเครื่องที่บริษัทใช้งานอยู่นั้นเป็นเครื่องแบบอัตโนมัติ 2 เครื่อง มีกำลังการผลิต โดยประมาณ 64,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และเครื่องแบบกึ่งอัตโนมัติมีกำลังการผลิต โดยประมาณ 16,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และมีการใช้เครื่องเชื่อมเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual จำนวน 60 เครื่อง โดยมีกำลังการผลิต 210,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน (เฉลี่ย 3,500 ชิ้น ต่อเครื่องต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน) ซึ่งทางบริษัทได้มีเพิ่มการทำงานเป็น 2 กะ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตในส่วนของเครื่องผลิตแบบอัตโนมัติสามารถทำได้และทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดเวลาการติดตั้งและการซ่อมบำรุง แต่เนื่องจากขั้นตอนการปรับปรุงต้องมีการปรับตั้งซึ่งอาจจะกระทบกำลังการผลิตในปัจจุบัน และเครื่องจักรยังจำเป็นต้องเร่งการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นทางมจธ. จึงมุ่งไปพัฒนาในส่วนของเครื่องเชื่อมเชื่อมอัลตราโซนิกแบบ Manual ที่ในบริษัทมีมากถึง 60 เครื่อง และมีกำลังการผลิตรวมถึง 210,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน โดยเครื่องนี้ต้องใช้พนักงานป้อนตัวหูเกี่ยวยางยืด (ear loop) ซึ่งกระบวนการที่ช้าและอีกทั้งต้องใช้ความชำนาญของพนักงาน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ในขั้นตอนการเชื่อมหูเกี่ยวกับแผ่นหน้ากากอนามัยด้วยเสียง (ultrasonic) พนักงานที่มีชำนาญสามารถผลิตได้ประมาณ 4,800 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน แต่พนักงานที่ฝึกใหม่และมีจำนวนคนมากกว่า สามารถผลิตได้ประมาณ 1,200-2,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน รวมทั้งคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ

โดยในโครงการนี้ทาง มจธ. ได้เสนอการดำเนินการแบบเร่งด่วน คือ 1.ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงานและแก้ไขจุดที่เป็นคอขวดของงานเท่าที่จะทำได้ และ 2. ทำการออกแบบอุปกรณ์เสริมทำให้การเชื่อมหูเกี่ยว เร็ว และแม่นยำ โดยพนักงานไม่ต้องคอยเล็งว่าตรงหรือไม่ และออกแบบหัวเชื่อมอัลตราโซนิกใหม่จากเดิมต้องเชื่อม 4 จุด พลิกผ้า 4 ครั้ง เครื่องนี้จะเชื่อมได้ครั้งละ 2 จุด พลิกผ้า 1 ครั้ง สามารถผลิตได้ประมาณ 5,000-6,000 ชิ้นต่อเครื่อง ต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน ซึ่งถือว่าสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยได้ถึง 50% หากพัฒนาเครื่องมือจนใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพโดยผนวกกับระบบกึ่งอัตโนมัติที่กำลังพัฒนาต้นแบบจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 6,000-6,500 ชิ้นต่อเครื่อง ต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน คิดเป็น 360,000 – 390,000 ชิ้นต่อ 8 ชั่วโมงทำงาน และมีคุณภาพดีเสมอกัน โดยเมื่อรวมกับเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแบบอัตโนมัติ และกึ่งอัตโนมัติแล้วสามารถเพิ่มกำลังการผลิตรวมได้มากกว่า 30% สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่ส่งไปให้โรงงานทดลองใช้เพิ่มกำลังผลิตยังทำอยู่ต่อเนื่อง และจะหาแนวทางการลดการหยิบจับ การรับส่งชิ้นงานให้น้อยลงด้วย

รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะยังอยู่ไปอีกสักระยะ ดังนั้นการเพิ่มกำลังผลิตหน้ากากอนามัยที่ยังคงขาดแคลนต้องดำเนินการต่อ โดยในไทยยังมีโรงงานที่พบปัญหาแบบเดียวกัน หากโรงงานนี้ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้แล้ว เราสามารถกระจายความรู้นี้ส่งต่อไปยังโรงงานอื่นๆ ได้ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่ pr@mail.kmutt.ac.th