ทำความรู้จักกับสามไอเดียโครงงานสุดเก๋ จากนักเรียน โครงการ วมว. มจธ. การันตีด้วยรางวัล JUNIOR YOUNG RISING STARS OF SCIENCE 2021

เริ่มต้นกันที่โครงงานแรกจากสามเพื่อนสนิท ปารวี ศานติกุลลักษณ์ (เกศ) จิรายุ อินทรธนู (ต้นกล้า) และชาลิสา พรสุขจันทรา (ลิงค์) กับผลงาน “Smart Farming: Leaf spot Detecting Application for Hydroponic Green oak” ส่วนผสมที่ลงตัวจากสามความชอบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีววิทยา การเขียนโค้ด และความสามารถในการออกแบบ UX (User Experience) และ UI (User Interface) ผสานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี สู่ผลงานช่วยแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรม

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีอิทธิพลกับหลายด้านของชีวิต น้อง ๆจึงมีแนวคิดที่อยากจะให้ศาสตร์ของชีววิทยาสามารถพัฒนาไปด้วยกันกับเทคโนโลยีได้ เพื่อการพัฒนาไปสู่อนาคต เกิดเป็นไอเดียการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบโรคในผัก มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เกษตรกรหรือผู้เริ่มเพาะปลูกที่ต้องการมีความรู้เรื่องโรคต่าง ๆในผัก ต้องการตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคในผัก โดยแอปพลิเคชันนี้โฟกัสไปที่การตรวจสอบโรคใบจุดในผักกรีนโอ๊ค น้อง ๆได้มีการศึกษาข้อมูล และทำแล็บทดลองเรื่องของโรคใบจุดในผักอย่างละเอียด มีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานช่วยแนะนำตลอดการทำงาน ด้วยจุดเด่นในการออกแบบ UX/UI ของแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานด้วยมือเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานให้เกษตรกร ทำให้สามารถใช้งานอย่างง่ายและรวดเร็วเหมาะกับยุคสมัย เพียงการสแกนใบพืชผ่านโทรศัพท์มือถือก็สามารถพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในพืชผักของเราได้แล้ว ในอนาคตหากมีความเป็นไปได้ น้อง ๆเล่าว่ามีแผนจะพัฒนาให้แอปพลิเคชันให้สามารถตรวจโรคในพืชได้หลายชนิดมากขึ้น หรือจับมือกับผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมสนับสนุนเพื่อพัฒนาผลงานต่อให้สามารถใช้งานได้จริงในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับวงการเกษตรกรรม

เพียงแค่ผลงานแรกก็น่าตื่นเต้นสำหรับผู้อ่านแล้ว เรามาทำความรู้จักกับไอเดียถัดไปกันเลย สำหรับโครงงาน “Enzymatic Production of Xylooligosaccharides from Banana Peels” จากความตั้งใจนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกิดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนรักสุขภาพ กับเรื่องของ กล้วย” ที่ไม่กล้วย ๆของสามนักคิดรุ่นใหม่ อลีนตา อาจเจริญ (บลูม) พิชญุตม์ สังข์เฉย (ต้นกล้า) และจิรัฏฐ์ คณารักษ์สันติ (ไทไท)

น้อง ๆ เล่าว่าโจทย์หลักที่ได้รับในการคิดโครงงาน คือ การลดปัญหาขยะธรรมชาติทางการเกษตร เริ่มจากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำตาลพรีไบโอติกส์ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถพบได้ในวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ทุเรียน มังคุด จึงเกิดการทดลองต่อในเรื่ององค์ประกอบทางเคมีของวัสดุเหลือทิ้งว่ามีอะไรบ้าง และองค์ประกอบในน้ำตาลพรีไบโอติกส์ที่สนใจศึกษามีอะไรบ้าง เพื่อหาความเชื่อมโยงในการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหล่านี้ จนมีการสรุปเลือกเป็นการทดลองสกัดน้ำตาล Xylooligosaccharides เนื่องจากเจ้าน้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลพรีไบโอติกส์ ซึ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตของโพรไบโอติกส์ในร่างกายโดยจะส่งผลให้สุขภาพช่องท้องเราดี กระบวนการทดลองสกัดน้ำตาลของน้อง ๆ ได้ทำทั้งในกล้วยและข้าวโพดเพื่อมาเปรียบเทียบกัน ท้ายที่สุดได้มาลงตัวที่ “กล้วย” เนื่องจากพบมากที่ไทย และประจวบเหมาะที่จังหวัดเพชรบุรีบ้านของต้นกล้า มีการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยเยอะมาก จึงเป็นวัสดุหลักในการทดลอง ซึ่งการทำงานในห้องแล็บ ณ ตอนนั้นมีเวลาเหลือน้อยมาก เพราะต้องมีเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิดควบคู่ไปด้วย การวางแผนการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก รวมระยะเวลาทำงานกว่าจะสำเร็จใช้เวลาไปประมาณ 2-3 เดือน โดยผลการทดลองสำเร็จถึงขั้นตอนของตรวจสอบทางเคมีในของเหลว ยังไม่ถึงขั้นตอนสกัดเป็นผงน้ำตาล ซึ่งหากมีเวลาเพิ่มเติมคาดว่าจะสามารถพัฒนาต่อผลิตเป็นผงน้ำตาลเพื่อบริโภคหรือเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้แน่นอน นับเป็นการพัฒนาและต่อยอดจากสิ่งเล็ก ๆ ที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าหมุนเวียนได้อย่างชาญฉลาดเลยทีเดียว

สองผลงานผ่านไปผู้อ่านคงอยากทราบแล้วว่าผลงานสุดท้ายจะน่าทึ่งขนาดไหน กับผลงานชื่อยาวชวนติดตาม “Isolation and Screening of Bacteria Producing Bacteriocin to Inhibit the Growth of Gastrointestinal Tract Pathogenic Bacteria” โครงงานโดย ภัทรเศรษฐ์ อนันตวิริยา (โดม) ชัญญาภาส ทองแย้ม (การ์ตูน) และพิรดา แซ่หลี (น้ำฝน) จากการเล็งเห็นปัญหาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย สู่การพัฒนาสารชีวภาพในการยับยั้งการก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ดำรงอยู่อย่างปลอดภัย

น้อง ๆ กลุ่มนี้รวมตัวกันด้วยความชอบในเรื่องชีววิทยา ประกอบกับการติดตามสถานการณ์โลกปัจจุบันซึ่งมีโรคต่าง ๆเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยส่วนใหญ่เราใช้การรักษาโดยยาปฏิชีวนะ ซึ่งในระยะหลังพบอัตราการดื้อยามากขึ้น ตรงข้ามกันการค้นพบยาต้านการติดเชื้อค่อนข้างต่ำลง อาจส่งผลร้ายแรงในอนาคตที่มนุษย์ไม่มีสิ่งที่จะไปต่อสู่กับแบคทีเรีย จึงเริ่มทำการสืบค้นงานวิจัยของต่างประเทศว่ามีสารชนิดใดบ้างที่มี Bacteriocin ซึ่งคาดว่าสามารถยับยั้งโรคในระบบทางเดินอาหารใกล้เคียงกับตัวยาปฏิชีวนะ และทำการศึกษาแบคทีเรียชนิดต่างๆ จนค้นพบสารที่ผลิตจากแบคทีเรียเองเรียกว่า “Bacteriocin” ยับยั้งโรคในระบบทางเดินอาหาร จากนั้นก็ได้ทำการทดสอบกับแบคทีเรียโรคในระบบทางเดินอาหาร เพราะเป็นกลุ่มโรคที่พบมากในคนไทย โดยใช้วิธีการแยกและคัดกรองแบคทีเรียที่มีความสามารถในการผลิตBacteriocin ที่จะนำมาสู้แบคทีเรียเหล่านี้  น้อง ๆเริ่มทำแลปเพื่อคัดแยกสารBacteriocin กันในช่วงของการเรียน ม.5 เทอม2 มีการแบ่งหน้าที่โดยอาศัยการวางแผนระยะยาวเพราะงานนี้ต้องวางแผนรัดกุมเพื่อป้องกันความผิดพลาด เนื่องด้วยเป็นการทดลองกับเชื้อก่อโรคจึงต้องมีการป้องกันให้ดี เชื้อต่างๆต้องทำในตู้ปลอดเชื้อ โดยใช้ห้องแล็บที่ได้มาตรฐานที่บางขุนเทียน มีอาจารย์ช่วยดูแลใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยสูงสุด นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจดี และความสามารถของเด็กไทยที่อาจจะเป็นกำลังสำคัญในวงการเภสัชกรรมไทยได้ในอนาคต

จากการมุ่งมั่นทำโปรเจคโครงงานในโรงเรียนสู่การส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือก และผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโครงการ “JUNIOR YOUNG RISING STARS OF SCIENCE 2021” โครงการสนับสนุนและเชิดชูเกียรตินักเรียนผู้มีความสามารถในการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูถัมภ์ นับเป็นอีกรางวัลที่สามารถการันตีได้ถึงมาตรฐานในการเรียนการสอน การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเรียนแบบ Story Based Learning ของโครงการ วมว. (โรงเรียนดรุณสิกขาลัย) มจธ. ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะนักคิดนักสร้างสรรค์ ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความพร้อมด้านสถานที่ บุคลากร และคณาจารย์ ที่พร้อมผลักดันให้พวกเขาได้เติบโตในเส้นทางที่ฝันได้อย่างมั่นคงและมีคุณค่า

ไม่แปลกใจเลยที่น้อง ๆทั้งสามทีมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเรียนที่นี่ทำให้พวกเขาแตกต่าง และมีความพร้อมในการเข้าไปใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างแท้จริง และแน่นอนที่สุด พวกเขา “รัก วมว.”