KX (Knowledge Xchange) กับการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร

ความร่วมมือของพันธมิตรในการดำเนินงาน ภายใต้การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม

การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม มีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับ และเพิ่มสมรรถนะให้กับกลุ่มคนให้มีความสามารถในการที่จะเติบโตเป็นผู้ประกอบการได้อย่างมีคุณภาพ สำนักเคเอกซ์จึงมีแนวทางในการบ่มเพาะผู้ประกอบการใน 3 มิติ ผ่าน 3 โปรแกรมที่จัดตั้งขึ้น เพื่อสนองต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจของเราและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในการสร้างความเข้มแข็งความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ อันได้แก่

     • การพัฒนาผู้ประกอบการ โดยการใช้องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของ มจธ. และเครือข่ายพันธมิตร เพื่อส่งต่อองค์ความรู้แก้โจทย์ปัญหาด้วยการวิจัย รวมไปถึงการจัดทำมาตรฐาน โดยมีโมเดลการส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงปลายทางที่เรียกว่าโปรแกรม “KX Build” ผ่านการให้ความรู้แบบ K2K (Knowledge to KX) ซึ่งเป็นการให้ความรู้แบบกลุ่มให้กับคนที่สนใจในแต่ละอุตสาหกรรม จากคนกลุ่มใหญ่ก็จะมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่สนใจให้มีโอกาสได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเชิงลึกกับกิจกรรม C2K (Consulting to KX) ต่อยอดไปสู่การ Site Visit ที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปถึงสถานประกอบการหรือองค์กร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโจทย์จริงที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดการนำเสนอโครงการวิจัย โดยสำนักเคเอกซ์จะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวกในการหาแหล่งทุนวิจัย ติดตามความก้าวหน้าจนโครงการสำเร็จ

     • “KX Build Academy” เป็นอีกมิติหนึ่งในการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมทักษะ และพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรในองค์กร เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาองค์กรของตนเองได้มากที่สุด ด้วยการใช้เครื่องมือในการประเมินสมรรถนะ วิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อน อันจะนำไปสู่การใช้จุดแข็ง แปรไปเป็นสมรรถนะที่ช่วยในการขับเคลื่อนองค์กร และใช้จุดอ่อนสำหรับการจัดโปรแกรมการพัฒนาทักษะและสมรรถนะด้าน Soft Skill ที่ตรงจุดเฉพาะบุคคล ด้วยวิทยากรของ มจธ. และเครือข่ายของเราที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องของความเป็นผู้นำ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม เป็นต้น

     • อีกมิติในการพัฒนาผู้ประกอบการ จากผลการวิจัยที่การพัฒนาคนควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้การพัฒนาในมิตินี้ เรามุ่งเป้าให้เกิดพัฒนาเด็กที่มีอายุ 4 – 15 ปีเป็นหลัก โดยเป็นการพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามช่วงอายุผ่านการเล่น จึงเรียกโปรแกรมนี้ว่า “KX Smart Play” โดยใช้หลักการในการพัฒนา 4 ด้าน (4C) คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) การสื่อสาร (Communication) และการคิดเชิงวิพากย์ (Critical Thinking) ซึ่งในส่วนนี้สำนักเคเอกซ์ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอก อาทิเช่น การสร้างความร่วมมือของบริษัทแกมมาโก้ ที่สนับสนุน LEGO Education เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้  การสนับสนุนของ The Mall Group ที่ทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ ณ ชั้น 2 ของ The EmQuartier การร่วมสร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้ของ สถาบันการเรียนรู้ มจธ. (LI)  ดรุณสิกขาลัยฯ และ บริษัท HelloAuda ซึ่งเป็นนักศึกษาเก่าของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. (FIBO)

     ในการดำเนินงานในทุกมิตินั้น ส่วนสำคัญที่สุดคือ การสร้างความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เราสามารถผลักดัน สนับสนุนให้เกิความสามารถที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการแบบรอบด้านอย่างเป็นรูปธรรม

อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์

มุมมองต่อการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร

แนวทางในการดำเนินการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในความคิดของตัวผมเอง ผมมองทุกคนคือ “เพื่อน” ไม่ใช่ “คู่แข่ง” ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนที่เราพร้อมจะถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถให้กับเครือข่ายของเรา เพื่อขยายโอกาส สร้างความเข้มแข็งในการที่จะเป็นผู้ส่งต่อความรู้ไปได้อีกมากมาย หากสำนักเคเอกซ์เป็นเพียงที่เดียวที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ ใน 1 ปีอาจทำได้เพียง 200 แห่ง แต่ถ้าเราสร้างเครือข่าย ผลที่จะกลับมาก็จะทำให้เราสามารถทวีคูณการพัฒนาผู้ประกอบการไปได้อีกมากมาย ให้เติบโตไปเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขัน และนำพาสังคม เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ความร่วมมือของพันธมิตรในการดำเนินงาน ภายใต้การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม

จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร มจธ. ที่ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงกับพันธมิตร โดยใช้กลยุทธ์ในการก่อตั้งสำนักเคเอกซ์ให้เป็น Innovation Center ด้วยการใช้พื้นที่ใกล้เมืองเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความร่วมมือกับบุคคล กลุ่มคน และองค์กรต่างๆ ให้เกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ ระบบนิเวศนวัตกรรมเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะต้องสร้างขึ้นมาให้เกิดความสมบูรณ์เช่นเดียวกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์
แนวทางหลักในการสร้างระบบนิเวศของสำนักเคเอกซ์ คือ การสร้างชุมชน (Community) ของคนที่มีความต้องการพัฒนาให้สามารถเข้ามา (Easy to access) เพื่อรับคุณค่า (Value) กลับไป โดยมุ่งเน้นการจัดพื้นที่ (Space) สำหรับการสร้างกิจกรรม(Workshop / Event) เพื่อให้องค์ความรู้ และเสริมทักษะที่นำไปใช้ได้ เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และองค์กร
การเปิดอาคารเคเอกซ์ให้เป็น Open Platform ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมได้ คือ จุดแข็ง และความแตกต่างที่เปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่ให้คนที่มีไอเดียเปลี่ยนโลกได้มารวมตัวกัน เพื่อสร้าง Open Innovation ให้เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นอกจากนั้นเรายังส่งเสริม และสนับสนุนเครื่องมือ และองค์ความรู้ ทั้งจาก มจธ. และเครือข่ายพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ การให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน โดยมีโปรแกรม ‘TECHBITE’ Incubation ที่สนับสนุนให้ Startup SMEs ให้ได้รับการบ่มเพาะความสามารถ เพื่อต่อยอดธุรกิจจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการมากประสบการณ์ที่จะคอยแนะนำอย่างใกล้ชิด และทำให้ความฝันให้เป็นจริง รวมทั้งยังมีอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ในพื้นที่ “Maker Space และ FabLab” เพื่อให้ได้ทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรม และต่อยอดไอเดียให้เกิดขึ้นได้จริงอีกด้วย


สมาชิกของสำนักเคเอกซ์

ล้วนเป็นเครือข่ายของระบบนิเวศที่หลอมรวมให้เคเอกซ์มีความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique) จากพื้นที่อื่นๆ ที่มีโมเดลของการเป็น Innovation Center เช่นเดียวกัน โดยสมาชิกของสำนักเคเอกซ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

     • พันธมิตรภายใน ส่วนหนึ่งในพื้นที่ของอาคารเคเอกซ์ มีสำนักงานของบริษัท และ Startup อยู่หลายแห่ง ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายพันธมิตรที่มีความเข้มแข็งมาก เนื่องจากแต่ละองค์กรนั้นมีความเชี่ยวชาญ มีความถนัดที่แตกต่างกัน และได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการพัฒนานวัตกรรมจากองค์ความรู้ของตนเอง และพร้อมที่จะแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น 

     • พันธมิตรภายนอก ความร่วมมือจากของภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเคเอกซ์ทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือแต่ละด้าน เพื่อเชื่อมโยง (Matching) ระหว่างเครือข่ายกับผู้ประกอบการ หรือระหว่างเครือข่ายกับเครือข่าย โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความร่วมมือ อาทิเช่น การจัดหาทุนวิจัยให้กับผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์วิจัยของแหล่งทุนนั้นๆ  การถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะทาง เป็นต้น

นอกจากนี้กลยุทธยุทธ์สำคัญที่สำนักเคเอกซ์ใช้เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภายในและภายนอกคือ “บุคลากรของเรา” ที่มีทัศนคติในการทำงานอย่างมีหลักคิดของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เป็นตัวแทนที่ถ่ายทอดความเป็นเคเอกซ์ไปสู่เครือข่ายได้อย่างชัดเจน ผ่านกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอน ให้บริการด้วยหัวใจ (Service Mind) ประสานงานเชื่อมโยงความร่วมมือ (Connect the Dots) ส่งมอบประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการและพันธมิตรได้อย่าง Win – Win Situation และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาของผู้บริโภคและประเทศในภาพรวมได้

ดร.เพียงเพ็ญ วงศ์นภาพรรณ
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์

มุมมองต่อการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร

“Your resource can become our resource.” สิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือจากพันธมิตร เพราะแต่ละองค์กร แต่ละหน่วยงานต่างมีทักษะ มีองค์ความรู้ที่แตกต่างกันมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ และมีความสามารถที่เป็นจุดแข็งของตนเอง สำนักเคเอกซ์ มีจุดมุ่งหมายในการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามาแบ่งปัน และเปิดโอกาสที่จะสร้างชุมชนของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิดพลังความร่วมมือ ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศที่เข้มแข็ง และต่อยอดไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมในการตอบสนองความต้องการของประเทศ


ที่มา : บทความจากคอลัมน์ From the Elite วารสารอินไซด์ มจธ. ฉบับที่ 12 (เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564)