
ที่ผ่านมาบริษัทที่จะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ จำเป็นต้องมีผู้บริหารหรือพนักงานในระดับตัดสินใจที่พร้อมที่จะอัปสกิลตัวเองให้มี “สมรรถนะ” และ “ความรู้” ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งในต่างประเทศเรียกรูปแบบการพัฒนาคนกลุ่มนี้ว่า Higher Education
โดยวิธีการที่นิยมใช้ คือ การสนับสนุนให้พนักงานเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เอก หรือหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนแต่ในยุค Disruption ที่ “สมรรถนะ” หรือ “ความรู้” ที่ได้เล่าเรียนมา “ตกยุค” เพราะความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ใบปริญญาบัตรและหลักฐานการเรียนหรืออบรมในหลักสูตรต่างๆ จะเป็น “เอกสารรับรองสมรรถนะในอดีต” ที่อาจไม่เพียงพอสำหรับการพิจารณาในการ “รับเข้าทำงาน” หรือ “ปรับเลื่อนตำแหน่ง” ขององค์กรในวันนี้และอนาคตดังนั้น นอกเหนือจากการสร้างหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนระดับสูง (Higher Education) แบบครบวงจรแล้ว
สถานศึกษาในอนาคตจะต้องมีรูปแบบของ “การรับรองความสามารถรายบุคคล” ที่แสดงถึง “ความสามารถ (Ability)” และ “ศักยภาพ (Potential)” ผ่านผลงานหรือการทำงานจริงที่จำเพาะแต่ละบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังได้เกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้วในประเทศตะวันตกหลายประเทศ และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ “Micro-Credentials” ที่แต่ละประเทศก็จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองความสามารถรายบุคคล

รศ. ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า Micro-Credentials หรือ MC เป็นรูปแบบของการรับรองความสามารถในรูปแบบออนไลน์ ที่สามารถแสดงถึงทักษะความรู้ ประสบการณ์ หรือผลงานของบุคคลนั้น ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจน โดย มจธ. คือสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย และลำดับต้นของอาเซียนที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของการสัมมนาวิชาการเรื่อง “Micro-Credentials in Thai Higher Education: Opportunities, Challenges, and Outlook from ASEAN and Europe” ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 -21 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ โดยมี EU-SHARE ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาเรื่อง Higher-Education ของประเทศในกลุ่มยุโรปเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน

ดร.กลางใจ สิทธิถาวร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มจธ. ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่ใช้ระบบการศึกษาแบบ Micro-Credentials แต่การที่ มจธ. ได้ทำเรื่องนี้มาต่อเนื่องกว่า 10 ปี และเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อปี 2562 ทำให้ SHARE เลือกให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่นำร่องของภูมิภาคในการทำ Micro-Credentials โดยในเวทีดังกล่าวได้มีการนำเสนอประสบการณ์ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นโดย Micro-Credentials จากเครือข่าย EU-SHARE สถาบัน British Council จากอังกฤษ, DAAD จากเยอรมัน, NUFFIC จากเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมงานกว่า 100 ท่านจากหลายหน่วยงานด้านการศึกษาของไทย รวมถึงตัวแทนของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน ทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
“เป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้คือ การนำเสนอแนวคิด วิธีการจัดการศึกษาและแพลตฟอร์มของ Micro-Credentials ในต่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศไทยได้เห็นถึงทิศทางของการศึกษายุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัย ทิศทางของตลาดแรงงานของโลก และการรับรองความสามารถระดับบุคคลมากกว่าใบปริญญาบัตร ซึ่ง Micro-Credentials คือการมองหาศักยภาพที่มีอยู่ในสถาบันการศึกษา และ Breakdown สิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่สามารถเลือกหยิบมาจัดทำเป็นโมดูลการพัฒนากำลังคนด้าน Higher Education ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล อีกทั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับความต้องการหรือแนวโน้มต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ภาพข่าวโดย: คุณสุพจน์ มีชาติ
กลุ่มงานการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการตลาด