พม. หนุน โครงการขยายผลโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. จับมือ 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย นำร่อง ร่วมพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

The Ministry of Social Development and Human Security (MSDHS) financially supports the expansion of KMUTT Model on Professional Development & Apprenticeship for Persons with Disabilities of which has been succeeded for the past decade.

“KMUTT model which has been adopted by five major universities is to be called “HigherEd for PWDs”. The initiatives (2024-2025) aims to upskill 300 persons with disabilities and guarantees sustainable employment and self-employment rates. Future implication and expansion throughout the country is another goal of this initiative project.”

Date: May 9th, 2024

Venue: Auditorium, 7th Floor, Knowledge Exchange (KX) Building, Bangkok, Thailand

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย    5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. ขึ้น ณ ห้อง Auditorium ชั้น 7 อาคาร Knowledge Exchange (KX) โดยมีการกล่าวรายงานและกล่าวถึงความร่วมมือโดย รศ. น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ. ดร.ชัยณรงค์ เหลืองวิลัย ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ. ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.วรานี เวสสุนทรเทพ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี รศ. ดร.จรสวรรณ โกยวานิช ผู้อำนวยการสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตามลำดับ จากนั้นนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคำแถลงข่าว “โอกาสที่เท่าเทียมของคนพิการในตลาดแรงงาน” และเยี่ยมชมบูธแสดงผลงานของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา พร้อมด้วยนายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “เปิดแผนและหลักสูตรเพิ่มศักยภาพคนพิการของสถาบันอุดมศึกษาไทย” โดยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยทั้ง 6 แห่ง

โครงการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาตรา 34 เป็นเงินจำนวนกว่า 23,000,000 บาท สำหรับจัดอบรมและฝึกงานคนพิการรุ่นที่ 1 รวมทั้งสิ้น 300 คน เริ่มตั้งแต่เดือน 1 เมษายน 2567 – 31 มีนาคม 2568 ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปีสำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการฯ คือ การนำสิ่งที่ มจธ.ได้วางแผนและเคยดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามาเป็นแม่แบบ โดยกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงาน แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. หารือร่วมกับสถานประกอบการที่สนับสนุนโครงการ เพื่อหาอาชีพและพัฒนาหลักสูตรการฝึกที่คนพิการสามารถทำได้ มีความต้องการจ้างงาน หรือ เป็นอาชีพใหม่ที่มีดำเนินการฝึกอบรมให้คนพิการไม่มากนัก  2. รับสมัครและคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมโครงการ ตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการและมีแรงจูงใจที่ต้องการทำงานหรือประกอบอาชีพ 3. กระบวนการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ รวม 6 เดือนโดยครอบคลุมทักษะทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านการสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิต และทักษะการฝึกประสบการณ์ทำงานตรง 4. สนับสนุนการจ้างงานคนพิการร่วมกับภาคี ทั้งสถานประกอบการและหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ 5. ระบบพี่เลี้ยงติดตามและให้คำแนะนำ และ 6. การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ผลกระทบ และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครคนพิการเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 9 – 31 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง จะเริ่มดำเนินการอบรมและฝึกอาชีพให้กับคนพิการระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2567 และช่วยส่งเสริมการหางานให้คนพิการและติดตามผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป