TCI KMUTT-TSRI-NECTEC unveiled the Thailand Research Analysis and Performance Version 2024 (ThaiRAP Version 2024)
Date: July 9, 2024
Venue: Convention Hall, 1st Floor, Ambassador Hotel, Bangkok

การวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยพื้นฐานของประเทศ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนการกำหนดแนวทางการวิจัยของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้กำหนดนโยบายทุกระดับ ได้รับทราบและตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการวิจัย ทั้งในเชิงสาขาวิชา ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา ตลอดจนหน่วยงานที่มีความเข็มแข็งในสาขาวิชานั้น ๆ เพื่อการพัฒนาและต่อยอดสู่นวัตกรรมต่อไป ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยพื้นฐานได้ในระดับนานาชาติเท่านั้น















ดังนั้น ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (หรือศูนย์ TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (หรือ NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้ดำเนินงาน โครงการพัฒนา “ระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย” (Thailand Research Analysis and Performance: ThaiRAP) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ระบบ ThaiRAP ตั้งแต่ปี 2564 โดยใช้ข้อมูลผลงานตีพิมพ์ที่ปรากฏในฐานข้อมูล TCI มาใช้ในการวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยในระดับชาติ นอกจากนี้ ศูนย์ TCI ยังได้คัดเลือกหน่วยงานนำร่อง 30 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย แหล่งทุน หน่วยงานกำหนดนโยบาย และมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน มาทดลองใช้ระบบ ThaiRAP เพื่อให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ในช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาระบบ ThaiRAP Version 2024 ได้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยในระดับชาติที่สามารถเทียบเคียงได้กับระดับนานาชาติ และมีพิธีเปิดตัวการใช้งานระบบดังกล่าวแก่หน่วยงานนำร่อง 30 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพ ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ระบบ ThaiRAP สามารถวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทยได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย และระดับบุคคล โดยมีดัชนีชี้วัด (Metric) ที่หลากหลาย เช่น จำนวนผลงานตีพิมพ์ในแต่ละปี จำนวนผู้แต่ง สาขาวิชาที่มีการตีพิมพ์ คำสำคัญที่แสดงเนื้อหาบทความ จำนวนการอ้างอิงโดยรวม จำนวนการอ้างอิงต่อบทความ และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ระบบ ThaiRAP จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและทิศทางการวิจัยของประเทศ ที่สามารถนำระบบ ThaiRAP ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัย ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยงานวิจัย สถานการณ์และภาพรวมของการวิจัย เพื่อประโยชน์ในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานหรือของประเทศ รวมทั้งการกำหนดทิศทางการวิจัยและนวัตกรรม และการติดตามและประเมินขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ ระบบ ThaiRAP (https://thairap.in.th/) จะเปิดให้บริการกับทุกหน่วยงานในช่วงปี 2568 เป็นต้นไป