คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. จับมือ GIT ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ณ ห้อง SCi Connect ชั้น 1 อาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อมาตรฐานและอุตสาหกรรม (N5) คณะวิทยาศาสตร์ มจธ.โดยมีตัวแทนผู้ลงนามจากทั้งสองฝ่าย ได้แก่ รศ. ดร.ตุลา จูฑะรสก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มจธ. และคุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT พร้อมด้วยพยานจากทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

ในโอกาสนี้ ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และภาคีความร่วมมือ ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่บัณฑิตของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ได้เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของ GIT ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภารกิจของ GIT ในการวิจัย พัฒนา และยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ได้นำไปสู่การขยายกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้งด้านการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม การยกระดับองค์ความรู้ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ซึ่งได้รับการส่งเสริมให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ความร่วมมือในครั้งนี้จึงมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศในอนาคต

วัตถุประสงค์หลักของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้คือการส่งเสริม สนับสนุน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของทั้งสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การวิจัย การบริการวิชาการ การฝึกอบรม การจัดการแหล่งเรียนรู้ การออกแบบ การตลาด เทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนการเผยแพร่และขยายผลองค์ความรู้และนวัตกรรมในเชิงวิชาการ เชิงพาณิชย์ และเชิงสังคมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีการนำเยี่ยมชมเครื่องมือวิเคราะห์และทดสอบของศูนย์เครื่องมือฯ ภาควิชาฟิสิกส์ และภาควิชาเคมี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้เห็นถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ มจธ. ที่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี และจะทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงภาคการศึกษากับหน่วยงานที่สนับสนุนอุตสาหกรรม โดยคาดหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพบัณฑิต ขยายผลการวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคการใช้จริง และสร้าง “ต้นแบบ” ของความร่วมมือเชิงระบบ ที่เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักศึกษา และหน่วยงานภายนอกได้เรียนรู้ เติบโต และพัฒนาศักยภาพของประเทศร่วมกันอย่างยั่งยืน