
โครงการพระจอมเกล้าศึกษา จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงบทบาทของบุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงรากฐานของวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้และการวิจัยที่สอดคล้องกับบริบทของยุคสมัย






ในส่วนของ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของนักศึกษา ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์ โดยเฉพาะในรายวิชา SSC263 การสร้างผู้นำ (Developing Leaders) ซึ่งเน้นการเรียนรู้ภาวะผู้นำทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถสะท้อนและวิเคราะห์ภาวะผู้นำผ่านกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของพระจอมเกล้า ที่มุ่งเน้นบริบทของศิลปศาสตร์
ผ่านการจัดโครงการการศึกษาภาคสนาม เพื่อลงศึกษา 5 พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ
- เกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568)
- วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568)
- พระนครคีรี และถ้ำเขาหลวง จ.เพชรบุรี (เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568)
- องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม (เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568)
- พิพิธภัณฑ์และโบราณสถาน จ.อยุธยา (เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568)
โดยมี คุณวิศวะ ชินโย นักวิชาการอิสระ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดเชิงวิเคราะห์ในแต่ละพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในบริบททางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาวะผู้นำในเชิงบูรณาการ
ต่อเนื่องจากโครงการการศึกษาภาคสนาม รายวิชายังได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการศึกษาภาคสนาม ขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ณ Learning Café สำนักหอสมุด มจธ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีให้นักศึกษาและผู้เข้าร่วมได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านบทความและความเรียง พร้อมการนำเสนอ บทวิเคราะห์ และการวิพากษ์ผลงาน ในบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.อมรวิทชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. กล่าวเปิดกิจกรรม และ ดร.ทศพร ทองเที่ยง อาจารย์ มจธ.(ราชบุรี) ได้นำเสนอบทความเรื่อง “พระจอมเกล้าศึกษา: เมืองเพชรบุรี” เพื่อสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ที่เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของการศึกษาภาคสนามในครั้งนี้
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิจาก ดร.อมรวิทชช์ นาครทรรพ ดร.ทศพร ทองเที่ยง อาจารย์ มจธ.(ราชบุรี) และคุณวิศวะ ชินโย นักวิชาการอิสระ ร่วมวิพากษ์ผลงานและให้ข้อเสนอแนะแก่นักศึกษาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิด วิเคราะห์ ตีความ และการอภิปรายอย่างมีเหตุผล โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการเขียนเชิงวิชาการอย่างเป็นระบบ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับรายวิชาเลือกเสรีของกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มจธ. ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
















