Black Pearl Racing Team # 17

จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ชื่นชอบรถมอเตอร์สปอร์ต จุดประกายให้เกิดการรวมกลุ่มก่อตั้งเป็น “ทีมไข่มุกดำ” หรือ “Black Pearl Racing Team” ผลักดันสู่การแข่งขันรถฟอร์มูล่า Student Formula ระดับประเทศในรายการ TSAE Auto Challenge 2023 Student Formula และสามารถคว้ารางวัลที่ 3 ได้เป็นผลสำเร็จ

ชมรม Formula Student KMUTT มีจุดเริ่มต้นจากท่านอาจารย์ สุรเชษฐ์ ชุติมา ที่ต้องการจะผลักดันนักศึกษาที่มีความสนใจรถยนต์มารวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาเป็นชมรม และเริ่มต้นเข้าสู่การแข่งขันภายใต้ชื่อ “Warp Racing” และได้เปลี่ยนชื่อมาเรื่อย ๆ จนเป็น “Black Pearl Racing Team” หลังจากได้แชมป์ประเทศไทยเป็นครั้งแรกและเข้าสู่ช่วงที่ทีมมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและได้กลายเป็นทีมที่อยู่หัวแถวมาโดยตลอด จนขึ้นชั้นได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน ณ ประเทศญี่ปุ่น ทำอันดับสูงสุดที่อันดับ 10

จนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้ไม่ได้จัดการแข่งขันไป 2 ปี ชมรมจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ทำให้การสานต่องานและความรู้ต่าง ๆ ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นนั้นไม่ดีนัก ผ่านการล้มลุกคลุกคลานจนชมรมเกือบที่จะต้องยุติและปิดตัวลง ต่อมาเมื่อในปี 2022 สถานการณ์โควิด -19 เริ่มเบาบางลง ทางผู้จัดการแข่งขันกลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้งภายในปี 2023 จึงเป็นเป้าหมายของการเริ่มต้นใหม่และการกลับมาของทีม Black Pearl Racing Team รุ่นที่ 17 ที่จะพัฒนารถแข่งให้กลับไปสู่การเป็นทีมชั้นนำอีกครั้ง ด้วยการสนับสนุนทีมจากอาจารย์ และพี่ๆ ศิษย์เก่า จนทำให้รถแข่งในปี 2023 นี้เกิดขึ้นมาได้

แชร์ประสบการณ์

ทีม Black Pearl Racing Team รุ่นที่ 17 ฟอร์มทีมในปี 2022 ถือว่าเป็นเด็กที่ยังขาดประสบการณ์อยู่มากเพราะในช่วงโควิด – 19 มหาวิทยาลัยได้ปิดการใช้สถานที่ ทำให้ทีมไม่ได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นกับการสร้างรถขึ้นมา โดยผม ธนภูมิ บุทเสน (ภู) นักศึกษาปี 2 วิศวกรรมเครื่องกล รับหน้าที่เป็นประธานชมรมและกัปตันของทีม ซึ่งจากสมาชิกทีมในเวลานั้นที่มีความหลากหลายด้านภาควิชา ประกอบกับเวลาในการทำงานที่น้อย และประสบการณ์ของคนในทีมก็น้อย สำหรับผมแล้ว “งานนี้จึงมีความท้าท้ายสูงที่สุดกับงานที่ได้เคยทำมาตลอดชีวิต เพราะต้องร่วมงานกับคนเยอะ ขอบเขตงานใหญ่ พร้อมทั้งเงื่อนไขในการทำงานที่แต่ละคนในทีมมีไม่เหมือนกัน งานนี้จึงทำได้ยากมาก ๆ สำหรับผมครับ”

จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เล่ามา ทำให้ทีมตัดสินใจที่จะใช้ชิ้นส่วนเดิมจากรถคันก่อนให้ได้มากที่สุดเพื่อลดเวลาในการสร้างชิ้นส่วน และในการแข่งขันนี้ได้ตั้งเป้าหมายขั้นต่ำไว้ คือต้องนำรถเข้าแข่งขันให้ครบทุกอีเว้นท์ เพื่อให้ได้ประสบการณ์ในแต่ละสนามและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงข้อมูลในปีหน้า

จุดแข็งของรถรุ่น #17

ความจำเป็นที่ต้องใช้ชิ้นส่วนเดิมมากที่สุด ทีมเราเลยมุ่งเน้นปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในรถเพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษาและมีความทนทานมากขึ้นกว่ารุ่นที่ผ่านมา อีกทั้งรถของเรายังมีการเพิ่มระบบการจูนเครื่องยนต์แบบ wireless ทำให้สามารถจูนเครื่องได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นและยังทำให้รู้ว่านักขับต้องการปรับส่วนไหนบ้าง

วันลงสนามจริง

เมื่อถึงสนามทุกคนตื่นเต้นมากเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นรถคู่แข่งจากมหาวิทยาลัยอื่น พอถึงช่วงที่ต้องตรวจรถเพื่อเข้าแข่ง รถของเรานั้นเป็นกลุ่มรถทีมแรกที่ได้เข้าไปตรวจ เราก็ได้พบกับปัญหาแรกที่การตรวจนั้นล่าช้า ทำให้ตรวจไม่ผ่านในครั้งแรกจนต้องเสียเวลาไปในช่วงบ่าย และส่งผลไปถึงการทดสอบระบบเบรคจนทำให้การทดสอบกว่าจะเสร็จต้องข้ามเป็นอีกวัน

ในวันต่อมาเราต้องเสียเวลาช่วงเข้าไปในการทดสอบบางส่วนและมีเวลาเข้าแข่งบางรายการลดลงแต่ทีมเราก็แก้ปัญหาโดยการลดจำนวนครั้งในการเข้าแข่งเพื่อให้เข้าแข่งให้ครบทุกรายการเพื่อให้ได้คะแนน มากที่สุด โดยในวันที่สองนี้เราก็ได้เห็นรถแข่งของ ม.อื่นวิ่งด้วยความเร็วสูงจนเราทุกคนร้อง “โห รถของม.อื่นนี้ก็เอาเรื่องโคตร ๆ เลย” แต่ก็ยิ่งทำให้ทีมของเรายิ่งอยากจะทำรถในครั้งต่อไปให้มากขึ้นไปอีก เพื่อที่จะได้เร็วกว่ารถทุกคันในสนาม โดยในวันนั้นเราก็เห็นทั้งรถที่วิ่งจบบ้าง ไม่จบบ้าง ได้เห็นความพร้อมและไม่พร้อมของแต่ละทีม ส่วนในทีมของเรานั้นก็เป็นหนึ่งในทีมที่วิ่งจบทุกรายการในวันนั้นซึ่งก็นับไปความสำเร็จของเราในปีแรกแล้ว

ในวันที่สาม เป็นวันสุดท้ายก่อนประกาศผล คือการแข่ง Endure โดยในวันนั้นเราลงแข่งขันกับสองทีมคือ ทีมลูกพระบิดาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ทีมมหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งทั้งสองทีมนั้นก็มีรถที่พร้อมมาก ๆ เพราะรถของ 2 ม.นี้ วิ่งเร็วกว่ารถของเรา แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังให้กำลังใจเพื่อนนักขับของเราคือ กษิดิศ โรจนวณิชชากร (ปาย) และณัทธร ชื่นชูจิตต์ (ถั่ว) หลังจากแข่งจบนักแข่งหลายคนก็บอกเหมือนกันว่า “เหนื่อยมาก ๆ แต่มันส์.. ที่ได้ลงไปแข่ง” แม้จะพลาดไปบ้างในบางสนามแต่ก็นับเป็นความสำเร็จแรกของทีมเราแล้ว โดยในช่วงจะเริ่มประกาศผลการแข่งเราก็พอที่จะคาดการณ์ได้ว่าอยู่ที่ลำดับเท่าไร เมื่อคะแนนออกและลำดับออกมาเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้แล้วนั้น คือ อันดับที่สาม โดยเมื่อหลังการแข่งเสร็จนั้นก็ได้แลกเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ ในการสร้างรถซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ในการแข่งเพราะให้ความรู้สึกเหมือนกับการได้มาพบปะกันของคนที่ชอบรถเหมือนกัน และได้รับน้ำใจจากทางทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ช่วยเราขนตู้ขึ้นรถขนของเราอีกด้วย จึงเป็นบรรยากาศการแข่งที่น่าประทับใจและอยู่ในความรู้สึกของทุกคนในทีมตลอดไป

เป้าหมายต่อไป

Black Pearl Racing Team รุ่นที่ 18 อาจจะพบกับความท้าทายใหม่ในรูปแบบรถไฟฟ้าเพื่อที่จะเข้าแข่งขันในปีหน้าและพัฒนาชมรมให้คนในมหาวิทยาลัยของเรานั้นมีส่วนร่วมกับทีมมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนารถจากปัญหาที่เกิดในการแข่งให้ดียิ่งขึ้นครับ