











เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พร้อมด้วย ศ. ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสอธิการบดี มจธ. และดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. ให้การต้อนรับตัวแทนหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) นายจักรพันธ์ สาครชัยเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. (แผนงาน Net zero) ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส (แผนงานธัชวิทย์และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง) และนางสาวอักษร ฉายสุวรรณ เจ้าหน้าที่สนับสนุนอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ในโอกาสเข้ารับฟังการนำเสนอข้อมูลสิ่งส่งมอบปีแรกตามแผนงาน โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพค. ภายใต้โปรแกรมธัชวิทย์ “โครงการการสร้างสาหร่ายสายพันธุ์ใหม่ด้วยนวัตกรรมชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศไทย”
ในการนี้ ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ หัวหน้าโครงการ จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีคณะนักวิจัยในโครงการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมนำเสนอแผนการดำเนินงานและกรอบการวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำโดย ดร.กัลยาณี ไพฑูรย์รังสฤษดิ์ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย IBEG-NSTDA สวทช.
จากนั้นมีการหารือแนวทางการหาความร่วมมือจากเอกชน เพื่อพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าสำหรับรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง ในมิติที่ 2 Frontier Science Alliances และ มิติที่ 3 Future Graduates Platform ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การจัดตั้ง Consortium การบริหารจัดการ และแผนการดำเนินกิจกรรม 2. เป้าหมายสัดส่วนการร่วมมือจากภาคเอกชน 10% ของมูลค่าโครงการ 3. รายชื่อภาคเอกชนที่เข้าร่วม 4. รูปแบบสมาชิกและสิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับ ณ ห้องประชุมประภา ประจักษ์ศุภนิติ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี