มจธ. จับมือ “เอ็นเนเบิล เอิร์ธ” เดินหน้าโครงการไบโอชาร์ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเกษตรในเวียงป่าเป้า

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนางสาวภาสินี ตั้งสุริยาไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นเนเบิล เอิร์ธ จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนโครงการ “การสนับสนุนด้านวิชาการและนวัตกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและไบโอชาร์” โดยมี นางสาวดารินทร์ รังสิกมล Tech Lead บริษัท เอ็นเนเบิล เอิร์ธ จำกัด และนายศุเรนท์ ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มจธ. ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมประภา ประจักษ์ศุภนิติ มจธ.

ความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสู่ชุมชน ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟางข้าว และซากพืชต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไบโอชาร์ ซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ลดการเผาในที่โล่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม มจธ. มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาต้นแบบความร่วมมือแบบ PPP (Public-Private-People Participation) ซึ่งผสานพลังจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ด้านนางสาวภาสินี ตั้งสุริยาไพศาล กล่าวว่า บริษัท เอ็นเนเบิล เอิร์ธ จำกัด มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยีไบโอชาร์ ที่จะช่วยลดของเสียทางการเกษตร ลดการเผาในที่โล่งซึ่งเป็นต้นเหตุของ PM2.5 และยังสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและความยั่งยืนให้แก่ชุมชน

ทั้งนี้มี ผู้แทนจาก สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) คณะทำงานพัฒนาธุรกิจ ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม เข้้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย

โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีระยะเวลา 3 ปี โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา “โครงการไบโอชาร์ เวียงป่าเป้า” ให้เป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลสู่พื้นที่อื่นทั่วประเทศ พร้อมทั้งผลักดันประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Economy) และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)