สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เยี่ยมชมติดตามความก้าวหน้าห้องปฏิบัติการเฉพาะทางยาชีววัตถุและวัคซีน (BPCL) รองรับการผลิตวัคซีน COVID-19 ขึ้นใช้เองในประเทศ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 คณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญฯ สถาบันวัคซีนแห่งชาตินำโดย ดร.อัญชลี ศิริพิทยาคุณกิจ และแพทย์หญิงสุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญ เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีน (Biopharmaceutical characterization laboratory; BPCL) ณ ชั้น 4 อาคารวิจัยและนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) โดยมี รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ผศ. สุชาดา ไชยสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเป็นผู้นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนเร่งรัดการเข้าถึง COVID-19 ของประชาชนไทย เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานด้านห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีน ยาชีววัตถุให้ได้มาตรฐานและแข่งขันในตลาดโลกได้

ในการนี้ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญที่เข้าเยี่ยมชมได้รับฟังความก้าวหน้าและแผนของดำเนินงานโครงการฯ รวมถึงเยี่ยมชมครุภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการ 4 ด้าน ได้แก่ 1) Protein Characterization 2) Biologic Testing 3) Microbial & Cell line Characterization, และ 4) Viral vector Characterization และชมการสาธิตการใช้เครื่องวิเคราะห์แยกชนิดเชื้อจุลินทรีย์ด้วยเทคนิค MALDI-TOF/MS จากการเยี่ยมชมดังกล่าวพบว่า โครงการมีการดำเนินการแล้วเสร็จสิ้นตามแผนที่วางไว้ คิดเป็นร้อยละ 90 ในอนาคตจะสามารถใช้ห้องปฏิบัติการนี้เป็นศูนย์กลางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนของประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการลงนามความร่วมมือการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและการพัฒนาเทคนิคด้านการวิเคราะห์ยาชีววัตถุและวัคซีนจาก Shimadzu Asia-Pacific

ขณะนี้ มจธ. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2566 และพร้อมดำเนินการเปิดให้บริการตั้งแต่ปี2565ต่อไป ในการเยี่ยมชมครั้งนี้คณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญฯ ได้แสดงความชื่นชมการดำเนินงานโครงการนี้ ก้าวต่อไปที่สำคัญคือเรื่องการประชาสัมพันธ์การเปิดให้บริการของห้องปฏิบัติการฯ นี้แก่หน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีนและยาชีววัตถุให้รับทราบอย่างทั่วถึงเพื่อลดการใช้บริการทดสอบที่ต่างประเทศและเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตยาชีววัตถุที่เข้ามาลงทุนในประเทศ