มจธ. จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนสัญจร “10 ปี กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก บ้านคีรีวง สู่…แผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช ”

KMUTT held the Press Tour on “10 Years of Hydrokinetic Turbines at Kiriwong Village, stepping forward to a Master Plan for promoting the Hydrokinetic Turbines in communities surrounding the Nakhon Si Thammarat Range”

Date: March 1-2, 2023

Venue:  Kiriwong Village, Lan Saka District, Nakhon Si Thammarat Province

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ร่วมกับกลุ่มงานการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการตลาด จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “10 ปี กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก บ้านคีรีวง สู่…แผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช”ระหว่างวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2566 ณ หมู่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช โดยนำคณะสื่อมวลชนร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมการประยุกต์ใช้กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กของเกษตรกรในชุมชน

การนำเสนอ “ภาพรวม 10 ปี งานวิจัยกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่คีรีวง” และโครงการ “การพัฒนาแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” โดย  ผศ. ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สรบ. มจธ. การเสวนาการจัดทำ “แผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คุณสุรเชษฐ์ หรดี พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช อาจารย์สมภาพ ขนุนทอง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคทุ่งสง อาจารย์อนุชิต รอดตัว วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช คุณวิรัตน์ ตรีโชติ วิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง คุณสมบัติ จุฬากาญจน์ ผู้ติดตั้งกังหันน้ำ และคุณวินัย คงธรรม ผู้ใช้งานกังหันน้ำ

โครงการวิจัย พัฒนา ติดตั้ง และทดลองใช้กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ณ ชุมชนหมู่บ้านคีรีวง มจธ. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ชุมชนคีรีวงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากกระแสไฟฟ้าที่ได้จากกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจำนวนกว่า 160 ชุด ที่ให้กำลังไฟฟ้ารวมกันกว่า 110 กิโลวัตต์ รวมถึงเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก ทำให้เกิดการขยายผลไปยังชุมชนในพื้นที่ห่างไกลอื่น ๆ ของประเทศ นำไปสู่การพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเองและช่วยลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลของประเทศนั้น เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้มีการต่อยอดจากกังหันไฟฟ้าจากกังหันน้ำขนาดเล็ก ไปสู่การจัดทำแผนแม่บทในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชอีกด้วย