มจธ. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ในหลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) สร้างกำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม

KMUTT, Huawei, and Osotspa have recently signed a Memorandum of Understanding (MOU) to establish a student development cooperation program within the KMUTT Ratchaburi Intelligence System Engineering (ISE) program. The primary objective of this program is to cultivate a new generation of skilled professionals in the field of Artificial Intelligence (AI) who can effectively address the evolving demands of various industries.

Date: June 2, 2023

Venue: X11.7 Room, 11th Floor of KX Building

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  คุณเดชา รัตนธาน Senior Ecosystem Business Manager บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณนุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วย การส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) ทั้งตัวหลักสูตร องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมการเรียนการสอน และศักยภาพของบุคลากรและนักศึกษา โดยใช้เนื้อหาสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ร่วมกับโจทย์ที่ได้รับจากสถานประกอบการจริง เพื่อร่วมกันสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ด้าน AIโดยมี ศ. ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. และประธานหลักสูตร ISE  กล่าวแนะนำถึงความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์ไอโอทีที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวขอบคุณและยินดีในความร่วมมือ และคุณนุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือกับ มจธ. ในหลักสูตร ISE ทั้งนี้ ดร.รัตนา รุ่งศิริสกุล อาจารย์ประจำ มจธ.ราชบุรี และ คุณปาจรีย์ แสงคำ Head of Digital Technology บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เป็นพยานในการลงนาม

หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Intelligence Systems Engineering: ISE) เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี  โดยมีการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนรู้แบบพหุวิทยาการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ รวมถึงการประยุกต์ใช้และความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และวิศวกรรมระบบในสาขาต่าง ๆ เช่น เครื่องกล ไฟฟ้า พลังงานและเคมี และชีวภาพ สำหรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และการเปลี่ยนแปลงของ ในหลักสูตรนักศึกษาจะมีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยี AI จากบริษัทชั้นนำของโลก และทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ  นักศึกษาสามารถออกแบบแนวทางการเรียนรู้ของตนเอง สามารถเลือกทำโครงงานตามที่ตนเองสนใจ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันแบบสังคม และการเป็นสมาชิกของสังคมที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น การจัดการเรียนการสอนจะทำในรูปแบบ Residential College ของ มจธ. ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งพัฒนานักศึกษาต้นแบบของประเทศไทย