เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 Times Higher Education Impact Rankings 2023 ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จาก 1,591 สถาบัน ใน 112ประเทศทั่วโลก มีมหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับ 65 แห่ง ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ครอบคลุมตัวชี้วัดที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ในมิติการศึกษา การวิจัย การดำเนินงาน และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของสาธารณะ
โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในไทย อันดับ 4 ของโลกใน SDG ที่ 1 No Poverty ขจัดความยากจน ด้วยคะแนนรวม 87.3
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ). เปิดเผยว่า “ผลการจัดอันดับ โดย Times Higher Educations Impact Rankings ในปีนี้ มจธ. มีผลงานที่โดดเด่นอย่างมากใน
SDG ที่ 1 No Poverty (ขจัดความยากจน) เป็นผลมาจากการดำเนินงานหลักในหลายด้าน อาทิ การสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่มีความเดือดร้อนทางการเงิน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งนักศึกษาชาวไทยและต่างชาติ ให้นักศึกษามีความพร้อมในการศึกษาเล่าเรียน ลดความวิตกกังวลของนักศึกษาด้านค่าใช้จ่ายในการศึกษา รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้มีความสามารถโดดเด่นในด้านต่างๆ ทุนการศึกษาสิริวิริยา สำหรับนักศึกษาสู้ชีวิตแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุนผู้ประสบอุบัติภัย เป็นต้น
นอกจากกลุ่มนักศึกษาในระบบแล้ว มจธ. ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มคนพิการ มจธ. จัดให้มีโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเข้าทำงานในสถานประกอบการ ต่อเนื่องมา 10 ปี ที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา เปิดโอกาสให้คนพิการได้ฝึกทักษะที่เหมาะสมนำไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ การติดตามและคอยส่งเสริมให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ชายขอบ เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าถึงการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน ผลักดันให้เกิดเป็นวิสาหกิจในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยตามเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้ของ มจธ.
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “นอกจาก SDG 1 แล้ว มจธ.ยังมีผลการจัดอันดับที่โดดเด่นอย่างมากใน SDG ข้ออื่นๆ ได้แก่ SDG 7 Affordable and Clean Energy (พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้) ได้คะแนน 75.9 และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 22 ของโลก มีผลงานวิจัยที่โดดเด่น อาทิ ‘กังหันน้ำคีรีวง’ เทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับชุมชน เป็นการนำเอาพลังงานสะอาดเป็นพลังงานทดแทนให้กับชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ดำเนินการร่วมกับชุมชนมาแล้วกว่า 10 ปี ประสบความสำเร็จจนเกิดเป็นโครงการการพัฒนาแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันการใช้งานจากภายในชุมชนเล็กๆออกไปยังชุมชนอื่นๆ และพื้นที่จังหวัดอื่นๆในประเทศไทยต่อไป
SDG 6 Clean Water and Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล) คะแนน 77.8 และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 39 ร่วมของโลก มจธ. มีคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ที่มีงานวิจัยและการดำเนินงานร่วมกับชุมชน และผลักดันเรื่องการจัดการน้ำให้เป็นเรื่องที่มีสอนในโรงเรียนและทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ อาทิ ดร.ปริเวท วรรณโกวิทหัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) คณะวิทยาศาสตร์ รศ. ดร.อุษา ฮัมฟรี่ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และรศ. ดร.อำนาจ ชิดไธสง รองผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยทั้งสามท่านยังได้ร่วมเป็นคณะทำงานในการจัดงานสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำนานาชาติ” หรือ Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand: Water for Life (WWM) ประจำปี 2565 อีกด้วย
SDG 17 Partnership for the Goals (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 92.0 และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 43 ของโลก มจธ. ให้ความสำคัญในการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัย ประเทศ และโลก โดยมีการเข้าร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนความยั่งยืนในระดับประเทศและโลก ได้แก่ เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand)
ประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นาก การประเมินพลวัตประชากรและอัตราการรอดตายของเสือปลาในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากมนุษย์ องค์ความรู้จากงานวิจัยไปต่อยอดขยายผลในเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนด้วยการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ประเมินผลกระทบกิจกรรมของมนุษย์ต่อโครงสร้างประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของโลมาอิรวดี
SDG 14 Life below Water (การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางธรรมชาติ) ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 73.9 และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 69 ร่วมของโลก มจธ. มีคณาจารย์ นักวิจัย จากหลายหน่วยวิจัย ที่มุ่งเน้นทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อศึกษาจำนวนประชากรสัตว์ อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ และศึกษาปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ เพื่อให้มนุษย์และสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนกัน และสัตว์ไม่เสี่ยงสูญพันธุ์ อาทิ โครงการการประเมินผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ต่อโครงสร้างประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของโลมาอิรวดี (Orcaella Brevirostris) ในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย และโครงการประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ฝั่งอันดามัน เป็นต้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มจธ. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย SDGs 2030 จึงได้กำหนดนโยบายและแผนงานเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรทำงานร่วมกับชุมชน และเครือข่ายในระดับท้องถิ่นและระดับโลก สร้างความยั่งยืนในใจของนักศึกษาและบุคลากรของเราให้มี “หัวใจสีเขียว” นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยังได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization) เป็น 1 ใน 77 องค์กร และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มจธ. ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณการจัดการพื้นที่สีเขียวในระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2565 โดยเป็นหนึ่งใน 12 หน่วยงาน ในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เข้าร่วมในการประเมินตามเกณฑ์การจัดการพื้นที่สีเขียวของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการประกาศเจตนารมณ์ของ มจธ. ในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2040