6 นักวิจัย มจธ. รับทุนวิจัยมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประจำปี 2567

มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2567 (Research Grant Award Ceremony 2024) ขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 โดยมี นายทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AGC Inc. และ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวแสดงความยินดี และ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. กล่าวรายงาน ณ ห้อง LIB108 สำนักหอสมุด มจธ.

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่าทุนวิจัยมูลนิธิกระจกอาซาฮีเป็นทุนสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่อาจนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา โดยมูลนิธิฯ ได้มอบทุนให้ มจธ. อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 ซึ่งในปีนี้ มจธ. ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมหาวิทยาลัยร่วมสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือประมาณ 3,400,000 ล้านบาท ให้กับ 6 โครงการ ใน 4 สาขาการวิจัย ได้แก่

1. สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการ ผลของไอออนบำบัดต่อสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของโครงเลี้ยงเซลล์จากแก้วชีวภาพด้วยกระบวนการโซล-เจลแบบโฟมสำหรับวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูก และ 2) การพัฒนาฟิล์มคอมโพสิตจากพอลิไดเมทิลไซลอกเซน (PDMS) สำหรับไตรโบอิเล็กทริกนาโนเจเนอเรเตอร์ที่เก็บเกี่ยวพลังงานน้ำ และการผสานเข้ากับโซล่าร์เซลล์เพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานผสม (หยดน้ำและแสงแดด)

2. สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) แอมฟิฟิลิกไคโตซานที่สามารถจัดเรียงตัวเองได้สำหรับใช้เป็นวัสดุนำส่งยีน และ 2) การศึกษาการตอบสนองของเซลล์และโปรตีนทั้งหมดของเซลล์ต้นกำเนิดชนิดมีเซนไคม์เยื่อหุ้มข้อในแผ่นเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้นเพื่อพัฒนาการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน

3. สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment Sciences) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ OtGene: เครือข่ายความร่วมมือด้านพันธุศาสตร์ประชากรเพื่อการอนุรักษ์และปราบปรามการค้านากผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชีย

4. สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมผังเมือง (Architecture and Urban Engineering) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ มุมมองที่แตกต่างในงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม, แนวคิดเรื่อง ความสำเร็จในการอนุรักษ์จากมุมมองของชุมชน จากภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย

6 นักวิจัย มจธ.ที่ได้รับทุนวิจัยอาซาฮีประจำปี 2567 ประกอบด้วย ดร.โศภิตา แสงเพชร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ดร.กรกันยา ประทุมยศ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ดร.วรธา กลิ่นสวาท อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และ ศูนย์วิจัย Conservation Ecology ผศ. ดร.ชเนนทร์ มั่นคง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ผศ. ดร.ปาริชาต นฤพนธ์จิรกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ. ดร.สมพิศ วันวงษ์ อาจารย์ประจำสายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ  นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานจากนักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2021-2022 จำนวน 8 ผลงาน ได้แก่ ผศ. ดร.นพพร รุจิสัมพันธ์คณะวิทยาศาสตร์ ผลงานเรื่อง การพัฒนาการเตรียมและวิเคราะห์เพอรอสไกท์โซลลาร์แบบอนินทรีย์: การศึกษาภาคทฤษฎีและทดลอง (Synthesis and Characterization on All-Inorganic Solar Cell: Combined Theoretical and Experimental Approach) ดร.เทพโยธิน ปาล (Dr. Debajyoti Pal) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลงานเรื่อง Measuring the End-User Experience with Voice-Assistants: from Usability to Acceptance ดร.ไตรรัตน์ เมืองทองอ่อน ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานเรื่อง Food Waste-to-Char Characteristics obtained from Various Kinds of Food Waste รศ.ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานการออกแบบ “โครงสร้างวัสดุพรุนจากกระบวนการพิมพ์สามมิติเพื่อเพิ่มคุณสมบัติเชิงกลและเชิงชีวภาพสำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดูก” ดร.ดาภะวัลย์ คำชา สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “นิเวศวิทยาการผสมพันธุ์ ลักษณะพื้นที่ทำรังและบทบาทของป่าสนปลูกปัจจัยสำคัญต่อการอนุรักษ์นกไต่ไม้ใหญ่ (Sitta magna) ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก Dr. Nasrul Hudayah สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “ความสัมพันธ์ระหว่าง Quorum sensing และการถ่ายโอนอิเลคตรอนระหว่างสายพันธุ์ของจุลินทรีย์บนวัสดุตัวกลางชีวภาพแบบเหนี่ยวนำที่ส่งเสริมการผลิตมีเทน” ดร.วัลลภ ชุติพงศ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “การประเมินพลวัตประชากรและอัตราการรอดตายของเสือปลาในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากมนุษย์” และ ผศ. ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม ในโครงการ “เราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอุตสาหกรรมไทย”