เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) จัดพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2565 (Research Grant Award Ceremony 2022) โดยมี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน มร.ทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Asahi Glass Company Limited (AGC) Inc. กล่าวแสดงความยินดี และ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวต้อนรับและร่วมมอบทุนให้กับนักวิจัยของ มจธ. การจัดพิธีมอบทุนในปีนี้เป็นรูปแบบไฮบริด ณ ห้อง LIB 108 สำนักหอสมุด มจธ. และผ่านระบบ ZOOM Meeting
พิธีมอบทุนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งนับเป็นปีที่ 11 แล้ว ที่มูลนิธิกระจกอาซาฮี ได้มอบทุนอุดหนุนวิจัยอย่างต่อเนื่องให้กับมหาวิทยาลัย เริ่มต้นในปี 2555 โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 5 ล้านเยน และมหาวิทยาลัยยังสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 5 ล้านเยน รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3,000,000 บาท ให้กับ 8 โครงการ ใน 6 สาขา จากเดิม 5 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) สาขาวิทยาการสารสนเทศ (Information Sciences) สาขาพลังงาน (Energy) ในปีนี้เพิ่ม สาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) โดยมีรายละเอียดดังนี้
สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) 2 โครงการ ได้แก่
ผศ.ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
ผลงานการออกแบบโครงสร้างวัสดุพรุนจากกระบวนการพิมพ์สามมิติเพื่อเพิ่มคุณสมบัติเชิงกลและเชิงชีวภาพสำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดูก
ดร.นนท์ ทองโปร่ง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์นาโนและนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์
ผลงานการพัฒนาคำอธิบายที่ถูกต้องของการวัดกระแสไฟฟ้าที่ถูกจำกัดด้วยประจุอิสระหลังถูกป้อนด้วยศักย์ไฟฟ้าในชั้นฟิล์มบางวัสดุเพอรอฟสไกต์สำหรับการวัดคุณสมบัติการนำพาประจุที่แม่นยำ ด้วยการศึกษาเชิงการคำนวณด้วยการเรียนรู้ของเครื่องและการทดลอง
สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) 2 โครงการ ได้แก่
ผศ. ดร.ภัทรา ผาสอน นักวิจัยประจำสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ
ผลงานการพัฒนาเซลลูโลสแม่เหล็กคอมโพสิตชีวภาพจากเปลือกสับปะรดเพื่อตรึงเอนไซม์: ความยั่งยืนในการเพิ่มเสถียรภาพและการนำเอนไซม์กลับมาใช้
ดร.ดาภะวัลย์ คำชา นักวิจัยประจำสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ
ผลงานนิเวศวิทยาการผสมพันธุ์ ลักษณะพื้นที่ทำรัง และบทบาทของป่าสนปลูกปัจจัยสำคัญต่อการอนุรักษ์นกไต่ไม้ใหญ่ (Sitta magna) ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก
สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) 2 โครงการ ได้แก่
Dr.Nasrul Hudayah นักวิจัยประจำสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ
ผลงานความสัมพันธ์ระหว่าง Quorum sensing และการถ่ายโอนอิเลคตรอนระหว่างสายพันธุ์ของจุลินทรีย์บนวัสดุตัวกลางชีวภาพแบบเหนี่ยวนำที่ส่งเสริมการผลิตมีเทน
ดร.วัลลภ ชุติพงศ์ นักวิจัยประจำสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ
ผลงานการประเมินพลวัตประชากรและอัตราการรอดตายของเสือปลาในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากมนุษย์
สาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) 2 โครงการ ได้แก่
ผศ.ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม โครงการเราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในอุตสาหกรรมไทย
รศ.ดร.อธิปัตย์ บุญเหมาะ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์
โครงการอบรมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะการสื่อสารแบบออนไลน์และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทยหลังจากช่วงฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
ในปีนี้ 2565 สาขาวิทยาการสารสนเทศ (Information Sciences) และ สาขาพลังงาน (Energy) ไม่มีโครงการที่ได้รับเลือก
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอผลงานจากนักวิจัยที่ได้รับทุนในปีก่อนหน้า จำนวน 7 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.ธีรพันธ์ เหล่าเมตตาจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2562 จากผลงานเรื่อง Nano-TiO2 Hepatotoxic Response Mediated by Intracellular Signaling Pathways: A System-Level Investigation, Mr. Uday Pimple บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2562 จากผลงานเรื่อง Development Automated Mangrove Forest Monitoring System Characterized by Physiological Effect of Environmental Factors, รศ.ดร.ภาติญา เขมาชีวะกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2563 จากผลงานเรื่อง Photocatalytic Degradation of Hazardous Volatile Organic Compound Using an Innovative Reactor with Nitrogen-Doped Photocatalytic-Coated Glass Sheets Under Visible and Solar Light Irradiations, รศ.ดร.วิทูร อุทัยแสงสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2563 จากผลงานเรื่อง Material Design and Characterisation for Laser Heat Treating and Welding Process Using a Multi-Scale Approach, คุณอนุชา ขำจริง สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2563 จากผลงานเรื่อง Threat Assessment and Management Prioritization for Otters’ Long-Term Conservation in Coastal Wetlands of Southern Thailand, ดร.วรธา กลิ่นสวาท คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2563 จากผลงานเรื่อง Impacts of Human Disturbance on Genetic Connectivity and Diversity of Coastal and Riverine Populations of Irrawaddy Dolphin (Orcaella brevirostris) in Thailand and Indonesia และ รศ.ดร.สนติพีร์ เอมมณี คณะวิศวกรรมศาสตร์ นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2564 จากผลงานเรื่อง Stable Transition of Bistable Composite Plates
ภาพข่าวโดย: คุณสุพจน์ มีชาติ
กลุ่มงานการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการตลาด