รมว. พม. เปิดงาน ครบรอบ 10 ปีการดำเนินงานโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มจธ. “เติม…เต็ม Empower”

The Minister of Social Development and Human Security is the chairman of the opening ceremony of the 10th anniversary celebration of KMUTT’s People with Disabilities Training and Internship Project.

Date: October 27, 2023

Venue: Learning Exchange (LX) Building, KMUTT Bangmod Campus

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมครบรอบ 10 ปี การดำเนินงานโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ดร.สุมาลี อุทัยเฉลิม คณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มจธ. และผู้เข้าร่วมงาน ให้การต้อนรับ ณ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) ภายในงานกำหนดให้มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดประกวดแนวความคิดนวัตกรรมเพื่อคนพิการ การจัดแสดงผลงานนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายโครงการ การแสดงความสามารถพิเศษของคนพิการ กิจกรรมการฝึกอาชีพเสริม การเสวนาในหัวข้อ “เติม…เต็ม Empower” โดย ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานกิติมศักดิ์ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) อาจารย์สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และพิธีมอบโล่เกียรติคุณแก่พันธมิตรที่สนับสนุนโครงการ เป็นต้น    

          โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มจธ. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน มจธ. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือกลุ่มคนพิการให้สามารถประกอบอาชีพได้ โดยการจัดฝึกอบรม-ฝึกงานในอาชีพที่เหมาะสมกับความต้องการของสถานประกอบการและความสามารถของคนพิการ โดยนำกลไกตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 35 ช่วยในการขับเคลื่อนโครงการ ปัจจุบันโครงการมีหลักสูตรสำหรับฝึกอบรม รวม 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หลักสูตรผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัส หลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น มีผู้สำเร็จการอบรมตามโครงการรวมทั้งสิ้น 10 รุ่น กว่า 398 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ได้รับการบรรจุเข้าทำงานในสถานประกอบการจริง