มจธ. เปิดฐานเรียนรู้โซลาร์เซลล์และการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนเกษตรทฤษฎีใหม่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ณ ไร่นาสวนผสม นายสาทิตย์ เปี่ยมพิชัย ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดย รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย รศ. ดร.สมชาย จันทร์ชาวนา รองอธิการบดี มจธ. ราชบุรี ดร.ทศพร ทองเที่ยง ผู้ช่วยอธิการบดี มจธ. ราชบุรี ฝ่ายบริหาร ผศ. ดร.มนัญญา เพียรเจริญ และคณะนักวิจัยห้องปฏิบัติการ Center of Translational Agriculture Research (CTAR) นักวิจัยจาก มจธ.ราชบุรี พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) เกษตรอำเภอจอมบึง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ราชบุรี สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจอมบึง (พช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กำนันตำบลรางบัว เกษตรกร และผู้ที่สนใจ ร่วมพิธีเปิดฐานเรียนรู้โซลาร์เซลล์และการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการ “การประยุกต์เทคโนโลยีรั้วไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับเลี้ยงสัตว์”

โดยเป็นความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน มจธ. คือ ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม (ศวช.) และกลุ่มเกษตรกรตำบลรางบัว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฐานเรียนรู้สำหรับใช้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน ถ่ายทอดและขยายผลเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดและการบริหารจัดการน้ำสำหรับพื้นที่ที่นอกเขตชลประทาน ให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหา/ความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างคณะทำงาน เกษตรกร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดในต้นทุนที่ต่ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนได้ต่อไป

โดยภายในฐานเรียนรู้จะมีกิจกรรมให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาได้ทำร่วมกัน แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลัก คือ 1) ฐานกิจกรรมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกร และ 2) ฐานกิจกรรมการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่และการพึ่งพาตนเอง

กิจกรรมในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) SDG 1 ขจัดความยากจน (No poverty) SDG 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean water and sanitation) SDG 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and clean energy) และ SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the goals)