มจธ. เปิดตัว 7 นักวิจัย รับมอบทุนโครงการวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประจำปี 2564

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) จัดพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2564 (Research Grant Award Ceremony 2021) โดยในปีนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM Meeting เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมี ดร.วรินธร สงคศิริ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์วิจัย กล่าวรายงาน มร.ทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Asahi Glass Company Limited (AGC) Inc. กล่าวแสดงความยินดี และ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวต้อนรับ และลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อขยายระยะเวลาการสนับสนุนทุน ระหว่างปี 2565 – 2567 ตลอดจนร่วมมอบทุนให้กับนักวิจัยของ มจธ.

พิธีมอบทุนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งนับเป็นปีที่ 10 แล้ว ที่มูลนิธิกระจกอาซาฮี ได้มอบทุนอุดหนุนวิจัยอย่างต่อเนื่องให้กับมหาวิทยาลัย เริ่มต้นในปี 2555 โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 5 ล้านเยน และมหาวิทยาลัยยังสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 5 ล้านเยน ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยได้สมทบทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3,000,000 บาท ให้กับ 7 โครงการ ใน 5 สาขา โดยมีรายละเอียดดังนี้

สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) 2 ผลงาน ประกอบด้วย

ดร.กานต์ธิดา กุศลมโน คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี จากผลงานเรื่อง การศึกษาไมโครไบโอมของมูลช้างไทยด้วยความละเอียดสูงเพื่อการจัดการด้านอาหารและการปรับปรุงสุขภาพ (High-Resolution Study of Fecal Microbiome in Thai Captive Elephants towards Nutrition Management and Welfare Improvement)

ดร.ภุมรี นามเขียว หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากผลงานเรื่อง การศึกษาการตอบสนองระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ภายหลังการเหนี่ยวนำให้เกิดอะไมลอยด์ด้วยโมเลกุลขนาดเล็กในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงแบบ 3 มิติเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ (Studying the Molecular and Cellular Response of Small Molecule-Induced Amyloidosis in 3-Dimensional Neuronal Culture Model: The Application for Understanding the Early Stage of Alzheimer’s Disease)

สาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) 2 ผลงาน ประกอบด้วย

ผศ. ดร.นพพร รุจิสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จากผลงานเรื่อง การพัฒนาการเตรียมและวิเคราะห์เพอรอสไกท์โซลลาร์แบบอนินทรีย์: การศึกษาภาคทฤษฎีและทดลอง (Synthesis and Characterization on All-Inorganic Solar Cell: Combined Theoretical and Experimental Approach)

รศ. ดร.สนติพีร์ เอมมณี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากผลงานเรื่อง การเปลี่ยนรูปแบบเสถียรของแผ่นวัสดุคอมโพสิตที่มีสมดุลเสถียรภาพสองตำแหน่ง (Stable Transition of Bistable Composite Plates)

สาขาวิทยาการสารสนเทศ (Information Science) 1 ผลงาน ได้แก่

ดร.เทพโยธิน ปาล (Dr. Debajyoti Pal) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ จากผลงานเรื่อง Measuring the End-User Experience with Voice-Assistants: from Usability to Acceptance

สาขาพลังงาน (Energy) 1 ผลงาน ได้แก่

ดร.ไตรรัตน์ เมืองทองอ่อน ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากผลงานเรื่อง Food Waste-to-Char Characteristics obtained from Various Kinds of Food Waste

และสาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) 1 ผลงาน ได้แก่

รศ. ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากผลงานเรื่อง การพัฒนาและการออกแบบกระบวนการออกซิเดชันขั้นสูงรูปแบบใหม่เพื่อกำจัดยาปฏิชีวนะและความเป็นพิษในน้ำเสียขาออก (Development and Design of a Novel Advanced Oxidation Process for Removal of Antibiotic and its Toxicity through Wastewater Effluent)

ทั้งนี้ รศ. ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม รศ. ดร.วนิดา พวกุล ที่ปรึกษาอธิการบดี พร้อมด้วย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมให้การต้อนรับผู้บริหารจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอผลงานจากนักวิจัยที่ได้รับทุนในปีก่อนหน้า จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ผศ. ดร.สุรเชษฐ์ กาฬสินธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ได้รับทุนในปี 2562 จากผลงานเรื่อง Microarray Printing of Sensitive Droplets Encapsulating ECOFLEX Modified with Polypyrrole (PPy) and Conductive Nanoparticles for Fast Interactive Wearable Sensors และ ดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม นักวิจัยที่ได้รับทุนปี 2563 จากผลงานเรื่อง Development and Validation of Tuberculosis and Pneumonia Detection Algorithms for Chest X-Ray Images in Thai Population โดยกิจกรรมดังกล่าว มี ผศ. ดร.ดวงฤดี โฆษิตกิตติวงศ์ ก้องกิจกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ