มจธ. สะท้อนภาพความสำเร็จการส่งเสริมด้านความเป็นผู้ประกอบการและความยั่งยืนผ่านกิจกรรม “KMUTT ACTS 2024 คิด สร้างสรรค์ ลงมือทำจริง สู้จนสำเร็จ สร้างผลกระทบที่มีความหมาย”    

จากกิจกรรม KMUTT ACTS 2024 “Sustainable Thrive Through Entrepreneurship คิด สร้างสรรค์  ลงมือทำจริง สู้จนสำเร็จ สร้างผลกระทบที่มีความหมาย”เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2567 ณ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (N16) และอาคารเรียนรวม 2 (N17) ภายใต้โครงการ 6+1 Flagships Track 3 กลไกหนึ่งที่ใช้ขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ มจธ. ฉบับที่ 13 และให้ความสำคัญกับการพัฒนานักศึกษา บุคลากร และมหาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่การเป็น Sustainable  Entrepreneurial University ที่ทุกคนมีจิตสำนึกเสมือนผู้ประกอบการ ภายในปี พ.ศ. 2569 ภาพรวมของงานมีนักศึกษา บุคลากร และผู้ที่สนใจจากภายนอกเข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสองวันกว่า 590 คน นับว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้แผน 13 มจธ.  

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักตามโครงสร้าง ดังนี้ 1) Activateสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้สนใจ เริ่มต้นคิด 2) Create เสริมสร้างทักษะเพื่อสร้างสรรค์ ลงมือทำจริง 3) Transform ชื่นชมตัวอย่างของผู้ที่สู้จนสำเร็จ สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นจริงในระดับมหาวิทยาลัยและสังคม และ 4) Sustainable เรียนรู้เชิงลึกในการพัฒนาด้าน Sustainability โดยในแต่ละกิจกรรมความรู้ที่ส่งเสริมให้มีแนวคิดความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) และให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) จากกิจกรรมทั้งสี่กลุ่มหลักสามารถนำประเด็นที่น่าสนใจมาต่อยอดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป อาทิ

 รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. ได้กล่าวถึงการมุ่งเน้นและส่งเสริมแนวคิดผู้ประกอบการที่ยั่งยืน โดยพัฒนานักศึกษา บุคลากร และการจัดการมหาวิทยาลัยให้ทันสมัย มุ่งเน้นกลยุทธ์ที่ยั่งยืนเพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม มีกลไกการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการทำงานกับพันธมิตรภายนอก ส่งเสริมการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการที่ใช้งานได้จริงผ่านการทำ Startup และ Spin-off และส่งเสริมให้ มจธ. มีบทบาทในการช่วยสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ส่งเสริมจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้แก่นักศึกษาและบุคลากร ในช่วงของการเสวนาภาพในอนาคตของ มจธ. ในหัวข้อ “มจธ. กับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ”

จากบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Driving the Circular Economy for Sustainable Success” โดย คุณอมรพล หุวะนันทน์ Chief Executive Officer บริษัท มอร์ลูป จำกัด คุณอิทธิกร เทพมณี Circular Economy Officer บริษัท ออร์ก้าฟีด จำกัด และ คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Qualy มีประเด็นที่ถูกกล่าวถึงและน่าสนใจ คือ เศรษฐกิจใหม่ในรูปแบบ Circular Economy กับคนตัวเล็กๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ความยั่งยืนเป็นความท้าทายที่ต้องทำร่วมกัน และพวกเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดทั้งความยั่งยืนและการทำลาย หากเราไม่ทำอะไรเลยจะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ทุกคนในสังคมควรมีส่วนร่วมในการทำตามสัญญาที่มีต่อส่วนรวม

การส่งต่อแนวคิดดีๆ จากพี่ๆ นักศึกษาเก่า คุณกษิดิน โชคศิลปสาท บริษัท ไอโอที ฮับ จำกัด และ คุณปิยะ พันธ์ทอง บริษัท เพชร วิสโกร จำกัด ถึงรุ่นน้อง มจธ. ในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการ โดยแนะให้น้องๆ ควรมีการทบทวนความต้องการของตนให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ และเมื่อเผชิญกับปัญหาใดๆ ให้มุ่งหาทางแก้ไข ทุกปัญหามีทางออกเสมอ การได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะนำทางให้เราเดินไปสู่ความสำเร็จ และการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและไม่ย่อท้อจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

คุณสมภพ กีระสุนทรพงษ์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) คุณกวี ชูกิจเกษม บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) และ อาจารย์ ช.โชติวงศ์ เพ็ชญไพศิษฏ์ บริษัท ไทยเควส จำกัด จากกิจกรรมการเสวนา “เปิดโลกกว้างกับเทคโนโลยีการลงทุนยุคใหม่ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน” ได้ให้วิธีคิดเรื่องของการลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจไว้ว่า การศึกษาหาความรู้ให้ตัวเองก่อนที่จะเริ่มลงทุนมีความสำคัญอย่างมาก โดยแนะนำให้ลงทุนตามความถนัดของตนเองและใช้เงินให้น้อยกว่าที่สามารถหาได้เพื่อแบ่งสะสมเก็บออม ต้องมีการวางแผนการเงินล่วงหน้า โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น และมีความเสี่ยงในการลงทุนที่ต้องเตรียมตัวรับมือ การวางแผนและจัดการการลงทุนที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงิน

จากเสวนา “Enhancing KMUTT Innovators for Entrepreneurial Success” โดย ดร.ทัศนีย์วรรณ ลักษณะโสภิณ  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ผศ. ดร.มงคล อัศวดิลกฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร บัณฑิตวิทยาลัย การจัดการและนวัตกรรม (GMI) คุณโสภิดา บุญเอนกทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม มจธ. (SAI) และ ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์ ได้ให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเองไว้ว่า ควรมองหา Pain Points รอบๆ ตัวเพื่อค้นหาโอกาสในการสร้างโจทย์ธุรกิจ ควรรักในสิ่งที่ทำและลงมือทำอย่างกล้าหาญ แม้จะกลัวความล้มเหลวก็จำเป็นต้องออกจาก comfort zone เพื่อเป็นการพัฒนาตัวเองและนวัตกรรมต่อไปได้

และ คุณธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน อุปนายกสมาคม Thai Startup และ ผู้บุกเบิก Startup ไทยในอาเซียน และ คุณก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ Manager of Long-Term Innovation and New Business Incubation, Center of International Business, PTT Global Chemical, PCL. ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจในช่วงของการเสวนา “Building a Culture of Creativity and Innovation” คนที่ต้องการ startup mindset มากที่สุดคือภาครัฐ มีประสบการณ์มากขึ้นเราก็จะแข็งแกร่งมากขึ้น การล้มเหลวเร็ว (fail fast) ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว ปัจจัยสำคัญคือหุ้นส่วน การรู้จักตัวเองให้มากพอ รู้ว่าตัวเองเก่งอะไรไม่เก่งอะไร และการเข้าใจบริบทเทรนด์ที่กำลังมาเเรง จะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจอย่างมาก

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีบอกเล่าประสบการณ์ “Real Stories-Real Impacts” จากนักศึกษา มจธ. ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมในโครงการ “การเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเร่งการเป็นผู้ประกอบการจากสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรระหว่างประเทศ (Experiential Learning Program: ELP) 2024 และมีโอกาสในการเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในต่างประเทศ WORLD CLASS OPPORTUNITY เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและผู้ประกอบการ กิจกรรมเสวนา “The Future of Marketing: The Power of Generative AI” โดย คุณธีรเศรษฐ์ จิรภัทร์ชาญเดช Microsoft Most Valuable Professional MVP และ คุณศุภรเศษรฐ์ วรธรรมธร Super AI Engineer Gold Medal พร้อมด้วยกิจกรรม Workshop จากผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้ประกอบการและความยั่งยืน เวทีแบ่งปันประสบการณ์และแรงบันดาลใจ และตลาดนัด Marketplace ที่อัดแน่นทั้ง สาระ ความรู้ และความบันเทิง ตลอดระยะเวลากิจกรรมทั้งสองวัน 

กิจกรรม KMUTT ACTS 2024 ในครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญ และสร้างความตระหนักในเรื่องของความยั่งยืนและความเป็นผู้ประกอบการได้ครบถ้วนครอบคลุมในหลากหลายมิติ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้ทั้งนักศึกษา บุคลากร และผู้ที่ได้เข้าร่วมงาน เห็นถึงโอกาสในการคิด สร้างสรรค์ ลงมือทำจริง สู้จนสำเร็จ และสร้างผลกระทบที่มีความหมาย ทั้งในบริบทของ มจธ. สังคม และประเทศ ให้เกิดขึ้นได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้