มจธ. เปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีน COVID-19

เมื่อกลางปี 2564 การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต้องเร่งมือร่วมด้วยช่วยกันดำเนินการในบทบาทหน้าที่ของตน เพราะเป็นความหวังในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก การได้รับวัคซีนโควิด-19 จะเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสป่วยและการระบาด ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และเป็นการป้องกันการป่วยหนักที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ๆ ทำให้การระบาดรุนแรงจะหายไป สังคมก็จะค่อย ๆ คืนกลับสู่สภาวะปกติ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การศึกษา ก็จะกลับมาเดินหน้าได้ต่อไป

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีแนวคิดในการจัดหาวัคซีน เพื่อนำมาฉีดให้กับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ดังนั้น เมื่อภาครัฐสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนแบบกลุ่ม เป็นหมู่คณะ จึงมีการหารือกันในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อเสนอผ่านทางกระทรวง อว. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เสนอใช้พื้นที่เปิดเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากร นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัย

มจธ. เป็น 1 ใน 11 มหาวิทยาลัยที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย ผศ. ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสบริหาร และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นช่วงที่ทางคณะทำงาน มจธ. มีการเตรียมการอย่างเร่งด่วนทั้งหน่วยงานภายใน และประสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก สำนักงานเขตทุ่งครุ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อดำเนินการเปิดศูนย์ฯ และได้เปิดศูนย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ณ ชั้น 1 อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) 

“หัวใจสำคัญของการตั้งศูนย์บริการฉีดวัคซีนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  เราทำเพื่อช่วยเหลือประชาคม มจธ. และประชาชนในพื้นที่ ได้มีจุดรับวัคซีนที่สะดวกมากขึ้น และดำเนินการตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้มีการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งจะทำให้การฉีดวัคซีนกระจายไปเร็วมากขึ้น ท่านอธิการบดีและทีมบริหารก็เห็นว่านอกจากนักศึกษา บุคลากรและประชาคม มจธ. แล้ว เรายังสามารถให้บริการครอบคลุมถึงครอบครัวบุคลากร และชุมชนรอบ ๆ พื้นที่มหาวิทยาลัยด้วย เพราะใช้ฐานข้อมูลผู้ประสงค์ฉีดวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกันไม่ว่าจะผ่านระบบหมอพร้อม หรือการลงทะเบียนผ่านช่องทางของมหาวิทยาลัยเองก็จะมีการตรวจสอบและเชื่อมโยงถึงกัน การดำเนินการก็เชื่อมั่นได้ เพราะเป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดของสาธารณสุข ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลบางปะกอก ที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัย และความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตทุ่งครุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีนไปก่อนหน้านี้ที่พร้อมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอาสาสมัครที่จะมาร่วมทำงานกับเราในพื้นที่”  ผศ. ดร.ประเสริฐ กล่าว

ในส่วนของการบริหารจัดการ และการเตรียมการภายใน มีมดอาสาที่เป็นอาสาสมัครช่วยทำงานครั้งแรกมีคนสมัครใจมาช่วยงานมากกว่า 140 คน รวมถึงศึกษากระบวนการและดูงานศูนย์บริการวัคซีนที่เปิดให้บริการแล้ว และวางแผนการทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นที่สุด 

ผศ. ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้ด้วยว่า “การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ดังนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ประสงค์จะเข้ารับบริการต้องพิจารณาด้วยตนเอง มหาวิทยาลัยในบทบาทองค์กรด้านการศึกษาที่ดูแลประชาคมจำนวนมาก มีความพร้อมในด้านสถานที่ การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ และช่วยให้การฉีดวัคซีนทำได้ในวงกว้างมากขึ้น เป็นไปตามแผนบริหารจัดการของภาครัฐให้ประเทศสามารถกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติได้โดยเร็วที่สุด

มจธ. ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับนักศึกษา บุคลากร และชุมชนรอบข้างอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับวัคซีนจากศูนย์ฉีดวัคซีน มจธ. กว่าสองหมื่นแปดพันโดส ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565