นักศึกษาและบุคลากร มจธ. สร้างชื่อในเวทีนานาชาติ APSSA ครั้งที่ 19 เพื่อการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา  KMUTT Students and Staff Shine at the 19th APSSA Conference, Elevating Student Development on the Global Stage 

The 19th APSSA International Conference จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17- 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ Stephen Riady Centre, University Town (National University of Singapore)  สาธารณรัฐสิงคโปร์  APSSA International Conference เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่จัดโดยสมาคม Asia Pacific Student Services Association (APSSA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาและกิจการนักศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในงานกิจการนักศึกษา (Student Affairs) และส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา เป็นการเพิ่มทักษะและความรู้ให้แก่บุคลากรที่ทำงานด้านกิจการนักศึกษา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรเข้าร่วมเป็นเครือข่ายทางวิชาการและวิชาชีพ 

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำเสนอผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ ภายใต้ธีม Learning and development outside the classroom / informal spaces  โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. การนำเสนอผลงานโครงการ SoCHAMP4SoChangeการพัฒนาพื้นที่ภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยใช้โมเดล “บวร” เป็นกรอบการทำงาน มีตัวแทนกลุ่มผู้ร่วมเสนอผลงาน ได้แก่ 

นายพิพัฒพงศ์ ชูช่วย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขานวัตกรรมบริการดิจิทัล 
นางสาวรดา การัณยกรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขานวัตกรรมบริการดิจิทัล 
นางสาวเอมสิณี ดำรงจริยาสีห์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล 

2. การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมสื่อออนไลน์ “นาฏยลีลาเพื่อสุขภาพ” กิจกรรมเชิงนวัตกรรมที่ผสมผสานท่าทางนาฏศิลป์ไทยเข้ากับท่าทางออกกำลังกายสมัยใหม่ มีตัวแทนกลุ่มผู้ร่วมเสนอผลงาน ได้แก่ 

นางสาวธัญชนก เพ็ญจำรัส นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
นางสาวภรณ์วรัตน์ สุวิชาชนันทร์ นักศึกษาปริญญาโท คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ 

โดยกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE และกลุ่มนักศึกษาชมรมนาฏยโขนละคร สร้างชื่อเสียงในเวทีนานาชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากทุนการศึกษาเจียระไนเพชร และงบประมาณกิจกรรมตามแผนกลยุทธ์ในหมวด Reaching Sustainable Development Goals 

          นอกจากนักศึกษา มจธ. ทั้งสองทีมที่ได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานภายในงานดังกล่าวแล้ว ในโอกาสนี้บุคลากรของ มจธ. ประกอบด้วย สำนักงานกิจการนักศึกษา กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา ศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (EESH) ยังได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานภาค Oral Presentation ภายใต้ธีม Transiting into and Navigating through University towards Student Success โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  1. Enhancing First-Year Experience: KMUTT’s Approach to Student Retention and Engagement โดยสำนักงานกิจการนักศึกษา 
  1. The Role of the Petchra Pra Jom Klao Ph.D. Research Scholarship in Enhancing Research Output and Holistic Student Development โดยกลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา 
  1. Strategic Transformation: Fostering Student Success through Entrepreneurship and Sustainability at KMUTT โดยกลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา 
  1. Change Agent with Green Heart at KMUTT Thailand โดยศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (EESH) 

ความสำเร็จของนักศึกษาและบุคลากร มจธ. ในงาน The 19th APSSA International Conference ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนากิจกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษา อีกทั้งยังตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อสร้างผู้นำที่พร้อมรับมือกับความท้าทายและผลักดันสังคมไปสู่ความยั่งยืน 

KMUTT จะยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรในทุกมิติ เพื่อขยายขอบเขตของการเรียนรู้และสร้างผลกระทบเชิงบวกในเวทีโลกอย่างต่อเนื่องต่อไป 

นายพิพัฒพงศ์ ชูช่วย ประธานกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE ได้กล่าวว่า “ในนามของกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE เราขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งต่อทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้การต่อยอดผลงานครั้งนี้เป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็น ทุนการศึกษาเจียระไนเพชรที่สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย สำนักงานกิจการนักศึกษาที่สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของพวกเราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามแนวพระราชดำริ มจธ. ที่มอบโอกาสให้พวกเราในการพัฒนาศักยภาพ การดำเนินโครงการและสนับสนุนผลักดันพวกเราในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม          

การเข้าร่วมงาน 19th APSSA International Conference ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าทุกประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเหมือนจุดเล็ก ๆ ที่เชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นเส้นทางของการพัฒนา และช่วยเปิดโลกทัศน์ในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในบริบทที่ต่างจากเดิม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการต่อยอดแนวคิดสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป”  นายพิพัฒพงศ์ ชูช่วย ประธานกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE  

นางสาวธัญชนก เพ็ญจำรัส นักศึกษาทุนเพชรพระจอมเกล้า ด้านศิลปวัฒนธรรม และประธานชมรมนาฏยโขนละคร กล่าวว่า “การเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า ทั้งในด้านการนำเสนอผลงานวิจัย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ และการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะนอกชั้นเรียน นอกจากนั้นแล้วยังถือเป็นโอกาสในการฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ การทำงานเป็นทีม และการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมที่ช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กับโครงการของเรา อีกหนึ่งความประทับใจคือการได้รับรู้ถึงความสำคัญของ Soft Power ผ่านการนำเสนอนาฏศิลป์ไทยในรูปแบบที่ทันสมัยและสามารถปรับใช้เป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ โดยผู้เข้าเยี่ยมชมผลงานต่างมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายผลการวิจัยนี้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ขอบคุณทุนเจียระไนเพชรที่เป็นแรงสนับสนุนในการพัฒนานักศึกษาสู่ความเป็นเลิศในเวทีนานาชาติ

        ชมรมนาฏยโขนละครขอขอบคุณ ทุนการศึกษาเจียระไนเพชรที่ให้การสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานครั้งนี้ รวมถึงขอขอบคุณ สำนักงานกิจการนักศึกษาที่ให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาศักยภาพตนเองและนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่นในเวทีนานาชาติ”

คุณนัยรัตน์ วงษ์เวทย์และ คุณปิยฉัตร ปัญญาภูมิสถิตย์ ได้กล่าวว่า การได้รับโอกาสในครั้งนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองในหลากหลายด้าน อาทิ การพัฒนาทักษะการเขียนเชิงวิชาการ ทักษะการนำเสนอ การสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งทักษะทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มสมรรถนะของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต มากไปกว่านั้นการได้รับโอกาสในครั้งนี้ทำให้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้และมุมมองด้านการพัฒนานักศึกษาที่มีหลากหลายรูปแบบการทำงาน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต นอกจากนี้การศึกษาดูงานในครั้งนี้ยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมระบบการจัดการต่าง ๆ ภายใน National University of Singapore อาทิ ระบบการจัดการขยะ การจัดการน้ำ พลังงาน การจัดการพื้นที่สีเขียวและอื่น ๆ  ทั้งยังมีติดต่อประสานกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการการสร้างนักศึกษาและผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อสังคมประเทศ และได้เห็นวัฒนธรรมการศึกษา การดำรงชีวิตของคนในสังคมประเทศสิงคโปร์ รวมถึงการได้พบปะเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆที่ทำงานเพื่อนักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดวิธีการในการจัดกิจกรรมด้านความยั่งยืนให้กับนักศึกษาและบุคลากร การสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยรอบมหาวิทยาลัย  ในนามของศูนย์ EESH ขอขอบคุณคณะดำเนินงานทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนานักศึกษาจนทำให้ได้รับโอกาสดังกล่าวนี้ และขอขอบคุณผู้ใหญ่ เพื่อน พี่และน้องนักศึกษา Change Agent with Green Heart ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดีในครั้งนี้ ขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานักศึกษา 

คุณพัฒชยานันต์ ทรัพย์รวีกร บุคลากรจาก สำนักงานกิจการนักศึกษา กล่าวว่า “การเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เราได้นำผลงานของสำนักงานกิจการนักศึกษาเข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยด้านกิจการนักศึกษาของสถาบันอื่น ๆ เป็นการเปิดประสบการณ์เรียนรู้และซึ่งกันและกันในด้านการให้บริการและการพัฒนานักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการสร้างส่งเสริม และสนับสนุนประสบการณ์ของผู้เรียนในปีแรก อันเป็นจุดเริ่มในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยและนำไปสู่ความสำเร็จของผู้เรียน     

นอกเหนือจากการร่วมเป็นผู้แทนของหน่วยงานไปนำเสนอผลงานแล้ว ในมุมของการการพัฒนาตนเองก็ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก สิ่งแรกคือเรื่อง Mindset ในเรื่องเปิดใจ เข้าใจ และเรียนรู้จากผู้อื่น ๆ เพราะทุกคนต่างมาเพื่อนเรียนรู้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันเรื่องราวซึ่งกันและกัน ต่อมาเป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะการสื่อสารไม่เพียงแค่ภาษาที่ช่วยให้เราเข้าถึงเรื่งราวต่าง ๆ ได้ แต่ยังมีในส่วนของการรูปแบบและวิธีการสื่อสารของไปทั้งภาษาพูดและภาษากาย ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในเวทีระดับสากล สุดท้ายเป็นเรื่อง สุดท้ายคือการสร้าง Connection ที่อาจทำให้กลายเป็นโอกาสอื่น ๆ อันดีต่อมาไม่ว่างจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม สุดท้ายนี้ขอขอบคุณบุคลากรจากสำนักงานกิจการนักศึกษาที่ร่วมกันพัฒนางานนี้ รวมถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ร่วมร่วมเดินทางทุกท่าน ที่ทำให้ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองร่วมกัน