เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ (BRI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ. บางขุนเทียน) ต้อนรับคณะผู้บริหารและบุคลากรภายใต้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานการเรียนการสอน Gifted Education ของ มจธ. ในช่วงเช้า ศ. คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำคณะเข้าร่วม เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับการสร้างความร่วมมือทางการศึกษา และพัฒนานักเรียนในศตวรรษที่ 21 บนฐานความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศได้ต่อไป รวมถึงเยี่ยมชมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ ที่มุ่งเน้นนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ณ มจธ.บางขุนเทียน และ มจธ.บางมด โดยมี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากร มจธ. ให้การต้อนรับ โดยในช่วงแรก รศ. ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ที่ปรึกษาอธิการบดี และ ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ ได้นำเสนอภาพรวมแนวคิดและกิจกรรมการเรียนการสอน Gifted Education และโรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) สำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ และ โคเซ็น มจธ. (KOSEN KMUTT) จากนั้นนำคณะเยี่ยมชมนิทรรศการของนักเรียนโครงการเพิ่มประสบการณ์ของเด็กและเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงการ 2B-KMUTT และ ผศ. สุชาดา ไชยสวัสดิ์ นำคณะเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีน (Biopharmaceutical characterization laboratory: BPCL) และ รศ. ดร.ขวัญชนก พสุวัต บรรยายและนำชมโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ (Automated Tissue Kulture: ATK)
ในช่วงบ่าย คณะผู้เยี่ยมชมจากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าเยี่ยมชมงานวิจัยด้านประสาทวิทยา และจิตวิทยา โดย ดร. ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ และสำนักงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Education Office: GEO) โดย ผศ. ดร.วิมลศิริ ปรีดาสวัสดิ์ ให้การต้อนรับ
ต่อด้วยการเยี่ยมชมผลงานวิจัยทางการแพทย์ โดย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย เครื่องฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยรังสี UVC โดย ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน ห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (SMART LAB) โดย คณะวิจัยจากห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (Smart Lab) และอุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ทางเลือกในอนาคต สำหรับผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายกระดูก โดย ผศ. ดร. พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ โอกาสนี้ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลได้มอบเครื่องฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยรังสี UVC ให้กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 10 เครื่อง เพื่อใช้ในการดำเนินงานของคณะฯ และโรงพยาบาลอีกด้วย
จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยของคณาจารย์ และนักวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (Institute of Field Robotics (FIBO)) โดย ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ FIBO ให้การต้อนรับ อาทิ “CARVER” หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ขนส่งอาหาร ยา และเวชภัณฑ์, “NEF” ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียงของผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ, “Inspectra-CXR” ระบบ AI ช่วยตรวจจับความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีทรวงอก, ชุดระบบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์”: SOFA – หุ่นยนต์ตัวแทนคุณหมอ และ Service Robot – หุ่นยนต์บริการ และแนะนำศูนย์ Hospital Automation Research Center: HAC มุ่งเน้นงานวิจัยและ พัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และ AI ที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์