ขอแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในโอกาสเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2564

วันที่ 11 มกราคม 2566 เวลา 08.52 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประจำปีการศึกษา 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพฯ        

ในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 1 ราย ได้แก่ ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และมีดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และวิทยาลัยสหวิทยาการ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวนรวม 1,792 คน    

ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร นายพลากร สุวรรณรัฐ ได้ให้โอวาทแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ความตอนหนึ่งว่า

“การทำงานให้สำเร็จผลแน่นอนและสมบูรณ์ตามเป้าหมายนั้น จะต้องใช้ความรู้ ความสามารถ พร้อมทั้งคุณสมบัติที่สำคัญๆ ในตัวบุคคลหลายประการ เป็นต้นว่า ความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจมั่นคง ความอุตสาหะพยายาม ความรับผิดชอบ ความรอบคอบระมัดระวัง และความสุจริตเป็นธรรม คุณสมบัติทั้งนี้ เป็นสิ่งที่แต่ละคนจำเป็นต้องสร้างสมอบรมให้เพิ่มพูนขึ้นในตนให้ได้ การสร้างเสริมคุณสมบัติดังที่กล่าว แม้อาจจะดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นเพียงในระยะต้นๆ เท่านั้น เพราะเมื่อได้พยายามปฏิบัติให้เคยชินเป็นปรกติแล้ว ก็จะทำได้สะดวกคล่องตัวขึ้น ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระหนักกายหนักใจประการใด งานที่เคยเห็นว่ายากหรือมีมากก็ปฏิบัติได้โดยง่ายและรวดเร็วทุกอย่าง ทั้งได้รับผลสมบูรณ์ที่พึงประสงค์ แต่โดยทางตรงข้าม หากไม่รู้จักสร้างเสริมเพิ่มพูนคุณสมบัติในตน ก็จะเป็นการบั่นทอนความรู้ความสามารถทุกอย่างให้ลดถอยลงเป็นลำดับ รวมทั้งความคิดอ่านก็จะพลอยเสื่อมลงด้วย งานที่ง่ายก็จะกลายเป็นยากและลงท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ ต้องเสียงานและเสียคนไปในที่สุด จึงขอให้บัณฑิตทุกคนนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาให้เข้าใจ และยึดถือเป็นหลักในการพัฒนาตนพัฒนางาน เพื่อสร้างสรรค์ความสำเร็จและความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเองและชาติบ้านเมือง”

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีเป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อความยั่งยืน ทั้งในมิติของผู้คนในสังคม และโลกที่เราอาศัย มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในด้านต่างๆ อาทิ การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2040 การสร้างและพัฒนาผู้เรียนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน การสร้างผลกระทบเชิงบวกของงานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ตลอดจนการบูรณาการงานวิจัย งานบริการวิชาการ การเรียนการสอน และนวัตกรรมอย่างทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างทั่วถึงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น การดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยกับชุมชนและสังคม โดยมีชุมชนและสังคมเป็นห้องปฏิบัติการทางสังคม ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา เปลี่ยนแปลง และพัฒนาสังคมในทุกระดับอย่างแท้จริง เป็นต้น