ปิดฉาก “HigherEd for PWD” ระยะที่ 1 เสริมสมรรถนะคนพิการสู่ตลาดแรงงานจริง

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 5 แห่ง จัดแถลงข่าวสรุปผลและปิดโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. HigherEd for PWD ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่การประกอบอาชีพในตลาดแรงงานจริง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้อง Auditorium ชั้น 3 อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) มจธ. บางมด กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีปิดโครงการ

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการ HigherEd for PWD  เป็นการนำประสบการณ์และรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพคนพิการของ “โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ.” ที่ มจธ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557  มาขยายผลผ่าน 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและฝึกงานที่ออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน (Demand-Driven) ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง

“จากเดิมที่ มจธ. ดำเนินโครงการฝึกอาชีพให้คนพิการได้เฉลี่ยรุ่นละ 50 คน แต่เมื่อเริ่มโครงการ HigherEd for PWD ในปีแรก สามารถขยายการอบรมให้คนพิการจากทั่วประเทศได้ถึง 300 คน นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคนพิการมากขึ้นแล้ว โครงการนี้ยังทำให้สถาบันและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจ โมเดล 6 ขั้นตอน ของการฝึกอาชีพคนพิการ ซึ่ง มจธ. ใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนา และสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยและความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่”

ด้าน ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. หัวหน้าโครงการฯ โมเดลหลัก 6 ขั้นตอน ที่ มจธ. ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการฯ ได้มีการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง เพื่อจัดทำและฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนพิการในพื้นที่ของตนเอง ประกอบด้วย (1) การหารือกับสถานประกอบการเพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเหมาะสมกับคนพิการ (2) การรับสมัครและคัดเลือกคนพิการตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร (3) การฝึกอบรมและฝึกงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน ครอบคลุมทั้งทักษะอาชีพ ทักษะการทำงานและการใช้ชีวิต และสร้างประสบการณ์ทำงานจริง (4) การสนับสนุนการจ้างงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน (5) ระบบพี่เลี้ยงเพื่อติดตามและให้คำแนะนำ และ (6) การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ผลกระทบ และประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่งสามารถนำไปปรับใช้กับหลักสูตรของตนเองได้อย่างยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่